"ไวรัส - ไวรัล" ในภาวะการเฝ้าระวัง "ไวรัสโคโรนา"

Logo Thai PBS
"ไวรัส - ไวรัล" ในภาวะการเฝ้าระวัง "ไวรัสโคโรนา"
ระหว่างที่ไวรัสโคโรนากำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศ ไวรัลอย่างการบอกต่อข่าวปลอม ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำลายล้างเป้าหมาย นอกจากรัฐบาลต้องรับมือกับการควบคุมโรค ยังต้องใช้ทักษะการสื่อสารในภาวะวิกฤตเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

 

สถานการณ์โดยรวมสามารถควบคุมได้ 100%

ได้กำหนดมาตรการ จัดการทรัพยากร เฝ้าระวังทั้ง 5 สนามบิน ทั้งทางบก ชายแดน ทางเรือ คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง มีความพร้อมรักษา ส่งต่อ จัดตั้งพื้นที่ควบคุมเมื่อมีความจำเป็น

เน้นย้ำชี้แจงตามข้อเท็จจริง ไม่ปิดบัง ยึดหลักการชีวิตและสุขภาพประชาชนสำคัญที่สุด

สิ่งที่น่าห่วงใยไม่ยิ่งหย่อนกว่าโรคระบาด คือข่าวปลอม หรือแหล่งข่าวผู้หวังดีแต่อาจคลาดเคลื่อน หากสงสัยสอบถามได้ที่กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

9 นาทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์กรณีไวรัสโคโรนา และฝุ่น PM 2.5 เมื่อ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ครอบคลุมประเด็นสำคัญ รัฐบาลไทยกำลังทำอะไร ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรฐานเฝ้าระวังระดับสากล และขอความร่วมมือรักษาสุขภาพและดูแลบ้านเมืองของเรา

สายตาที่จับจ้องมายังผู้ชมตลอดเวลา ไม่ก้มหน้าอ่านบทในมือ เป็นไปได้ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดนอกเนื้อหาที่กำหนดไว้บนหน้าจอเทเลพรอมเตอร์ (Teleprompter) ด้วยเป็นแถลงการณ์สำคัญ จะผิดพลาดมิได้

ทั้งที่วันเดียวกัน ยังมีข่าวพาดหัวนายกรัฐมนตรีตอบคำถามปัญหาการส่งเครื่องบินไปรับคนไทยกลับประเทศ และหลุดคำพูดที่สะท้อนภาพความแข็งกร้าวของเจ้าตัวออกมาอีกครั้ง

ย้อนดูคู่มือปฏิบัติ ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่กำหนดการสื่อสารภาวะวิกฤติไว้

Crisis Management Team (CMT) ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดขององค์กร ต่อกระบวนการจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤต

Crisis Communication Team (CCT) บุคลากรที่เข้ามาร่วมรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต

 

Crisis Manager บุคคลผู้เป็นผู้ประสานงานหลักจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤต

CCTจะต้องหาคำตอบว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารคือใคร พวกเขาอยากรู้หรือกังวลเรื่องใด เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไป
ที่สำคัญคือ “อะไรควรพูด” และ “อะไรไม่ควรพูด”

ย้อนโพสต์เฟซบุ๊กของ รศ.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการ กรณีฝุ่น PM2.5

5.ผมจะ #ไม่พูด อะไร ๆ ที่เป็นการเติมเชื้อไฟ เช่น ทนเอา ปัญหาเกิดจากประชาชน หรือ ห้ามใช้รถดีเซล เพราะมันปฏิบัติจริงไม่ได้

ภาวะที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วย “คนวงใน” เพื่อนพ่อเพื่อนแม่อยู่พื้นที่โรคระบาด รู้ลึกรู้จริงยิ่งกว่าใคร

บอกต่อข่าวปลอมจริงบ้างเท็จบ้าง เพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือหวังทำลายล้างเป้าหมาย

ภาวะ “ตายเพราะปาก” ก็บั่นทอนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในตัวนักการเมืองมาไม่น้อย

บางคนกลับใช้หลัก “สร้างข่าวใหม่เพื่อกลบข่าวเดิม” ยอมสร้างภาพลักษณ์ด้านลบเพียงเพื่อแลกกับ “ภาพจำ”

แต่เพราะภัยพิบัติ โรคระบาด เดิมพันสูงลิบความเป็นตายของผู้คน ใช่เรื่องเอาชนะคะคานหรือสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง

และการสื่อสารภาวะวิกฤต เป้าหมายคือประชาชนทุกฝ่าย ใช่เพียงมวลชนผู้สนับสนุน

แม้ปฏิเสธได้ยาก ว่าฝ่ายเห็นต่างบางกลุ่ม ที่กำลังปั่นกระแสความวุ่นวายในข่าวสาร

อยากให้มีผู้ติดเชื้อ อยากให้ข่าวร้ายเป็นเรื่องจริง เพื่อความพินาศวิบัติของรัฐบาลที่เกลียดชัง

หากแต่รัฐบาลผู้แบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบ ย่อมต้องเป็นผู้นำ ละวางความขัดแย้ง และทำงาน

เพราะการสื่อสารแค่ลดผลกระทบ แต่การลงมือทำจะแก้ปัญหาได้จริง

เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง