แพทย์เตือน "ฝุ่น" กระตุ้นไวรัสทำงานดีขึ้น

สังคม
28 ม.ค. 63
12:12
19,640
Logo Thai PBS
แพทย์เตือน "ฝุ่น" กระตุ้นไวรัสทำงานดีขึ้น
งานวิจัยทางการแพทย์ของจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น ซึ่งในงานวิจัยยังระบุด้วยว่าฝุ่นเป็นตัวกระตุ้นให้ไวรัสทำงานดีขึ้น

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.2563) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ของจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ฝุ่น PM2.5 กับไวรัสเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เยื่อบุตา ปาก ทางเดินหายใจ

 

 

ทั้งนี้ หลังจากเกิดการอักเสบแล้ว ไวรัสก็เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย การแพร่เชื้อผ่านเยื่อบุตาได้ คนจาม ไอ เข้าเยื่อบุตาได้ เอามือลูบหน้าถูกเยื่อบุตาได้ แต่ไวรัสโคโรนาตัวนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายคนทั่วๆ ไป เกิดการอักเสบมากกว่าที่ควรจะเป็น แม้แต่ภูมิคุ้มกันที่ปกติจะต้องสร้างมารับมือ ก็ยังรับไม่ไหว

คนทั่วไปเสี่ยงเท่ากับหญิงตั้งครรภ์-เด็ก-คนชรา

ภาวะเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรง หรือวัยหนุ่มสาว ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ ไม่ใช่แค่หญิงตั้งครรภ์ เด็ก คนชรา ซึ่งอ้างอิงมาจากการรายงานของจีน ผ่านวารสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในอังกฤษและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 41 คนแรกในจีน 60% ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง คือประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีอาการป่วยด้วยโรคใดๆ มาก่อน สมมติฐาน คือเชื้อไปกระตุ้นอาการอักเสบ

 

 

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าเชื้ออยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้กี่ชั่วโมง สมมติมีเชื้อผ่านเสมหะ พอสารคัดหลั่งพอแห้ง เชื้อไม่ได้หายไป ถ้าจะดูว่าติดง่ายหรือยาก ดูจากละอองฝอยมีปริมาณเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแค่ไหน และการสัมผัส

รายงานแพทย์จีนระบุไม่แสดงอาการก็แพร่เชื้อได้

ทางการจีนพบว่าหลังจากสัมผัสโรคแล้ว โดยประมาณ 7 วัน จะมีไข้วันแรก พอวันที่ 8 เริ่ม หายใจเหนื่อย วันที่ 9 เริ่มหายใจไม่พอ หายใจลำบาก และวันที่ 10 ครึ่ง จะเข้าไอซียู ซึ่งเป็นลำดับพัฒนาการของโรค ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้เสียชีวิตทุกคน แต่ข้อมูลจากจีน พบว่าถ้าไปโรงพยาบาลตอนออกอาการแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 14-15%

 

 

สำหรับสิ่งที่น่ากังวล คือไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ออกอาการอย่างในประเทศไทย พบว่าคนไข้ 3-4 คนแรก เข้ามาในไทย ไม่มีไข้ตลอดเวลา ถึงมีก็ไม่สูง ไม่มีอาการเจ็บป่วย เพราะเชื้อจะมีช่วงเวลาฟักตัว 1-2 วัน หรือ 14 วัน แต่ถ้าเอ็กซเรย์ปอด จะพบว่าผิดปกติอย่างมาก คนกลุ่มนี้มีเชื้อสะสมในปอดสูง แต่ไม่รู้สึกป่วย ไม่แยกตัวออกจากสังคม แต่แพร่เชื้อได้คราวละมากๆ

เชื้อไวรัสตระกูล RNA สามารถหลบในอวัยวะอื่นได้

ขณะที่ผู้ป่วยอีกประเภท ซึ่งจีนพบว่าในจีนมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่รับเชื้อมาแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าแบบนี้มีระยะการแพร่เชื้อกี่วัน ทำให้การแพร่เชื้อไปไกลแบบที่พบในปัจจุบัน ถ้าป่วยแล้ว รักษาได้ แต่เชื้อนี้เป็นไวรัสในตระกูล RNA เมื่อหายไปแล้ว อาจจะไปหลบในอวัยวะอื่นๆ ไม่จบทีเดียว รอเวลาประทุได้ใหม่ เช่น อีโบลา หลบเข้าลูกตา สมอง ทั้งที่อาการเป็นไข้เลือดออก ไวรัสชนิดนี้สามารถเลือกหลบเข้าไปในจุดที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเข้าไม่ถึงได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง