เมื่อผู้หญิง คิดจะเคลื่อนโลก

สังคม
29 ม.ค. 63
19:06
2,080
Logo Thai PBS
เมื่อผู้หญิง คิดจะเคลื่อนโลก
หากคุณคิดว่า "สิทธิสตรี" ไม่มีปัญหาในโลกยุคปัจจุบันที่สังคมเท่าเทียม? ข้อมูลจาก WHO ระบุผลสำรวจจาก 10 ประเทศ พบ 1 วัน มีผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 7 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ขณะที่เด็ก 5 ขวบและผู้สูงวัยไม่ต่ำกว่า 600 - 800 คน ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

WHO สำรวจ 10 ประเทศ พบว่า ใน 1 วัน มีผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 7 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ

เด็ก 5 ขวบ-ผู้สูงวัยอย่างน้อย 600-800 คนต่อปี ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง


อ็อกแฟม (Oxfam)
พบ ผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลกรวมกัน คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 คน

ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนรวมกันถึง 12,500 ล้านชั่วโมง 

หรือ คิดเป็นรายได้ประมาณ 328 ล้านล้านบาทต่อปี


นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาที่สะท้อนว่า ผู้หญิงไม่ได้รับความเท่าเทียมอย่างนั้นหรือ ?

ในความจริงแล้ว "สิทธิสตรี" ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายไทยมานานแล้ว ขณะที่หลายประเทศ ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม แต่สำหรับไทย รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 2475 ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่คนไทยไว้อย่างเท่าเทียม ตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในประเทศ ก็ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายห้ามสตรีใช้สิทธิเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และ 2560 ถูกเขียนไว้โดยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ กฎหมายส่งเสริมสิทธิสตรีถูกปรับแก้ไข เพื่อคุ้มครองและปกป้องสตรีจากการถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียม ถูกกดขี่ทางเพศในทุกประเด็นทางสังคม ทั้งเรื่องสวัสดิการ การจ้างงาน การศึกษา หรือแม้แต่การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

สัดส่วนผู้หญิงในเวทีการเมือง น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกและมาตรฐานสากล

แม้จะมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้สิทธิผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์นักการเมืองหญิงจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า เพศหญิงได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ในปี 2492 จากนั้นในปี 2554 ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยมีสัดส่วนของนักการเมืองหญิงมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 24 และมีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เมื่อหลายพรรคการเมือง กำหนดโควต้าให้มีผู้สมัครหญิงเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) กระทั่งปีนี้ สัดส่วนหญิงที่เข้าไปทำงานในสภาฯ ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 15.8


ในปี 2554 ประเทศไทยมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงมากที่สุดในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ ร้อยละ 24 ขณะที่ปีนี้มี ส.ส.หญิงเข้าไปนั่งในสภาฯ ร้อยละ 15.8 แต่ก็ยังถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 20 และมาตรฐานของ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ที่กำหนดไว้ว่า ควรมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30

เมื่อมีโอกาสเข้าทำงานในสภาฯ แล้ว คำถาม คือ ส.ส.หญิงทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ?


หลายครั้งที่ ส.ส.หญิง สร้างความโดดเด่นทางการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ถูกมองเป็นเพศที่ใช้อารมณ์ ไม่มีเหตุผล หรือ ใช้การวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก ขณะที่อีกหลายคน ก็ยังไม่เท่าทันเกมการเมือง จนหลายคนต้องตกม้าตายและไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ซึ่งแน่นอนว่า ภาพลักษณ์ในทางลบ ส่งผลให้การผลักดันประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศของประเทศอาจล้าหลังกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังเห็น ส.ส.หญิงหลายคน พยายามชูวิสัยทัศน์ แสดงบทบาทเพื่อแก้ปัญหาประเด็นสาธารณะที่มากกว่าแค่ปัญหาของสตรี ทั้งประเด็นเรื่องการศึกษา ความเท่าเทียมของเด็ก การให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ยิ่งมีตำแหน่ง ยิ่งตัดสินใจผลักดันนโยบายสาธารณะได้ดีขึ้น ?

คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ รวม 5 คณะ จากทั้งหมด 35 คณะ

 

  • นางมุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
  • น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม
  • น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

มีข้อสังเกตว่า ส.ส.หญิง เข้าไปเป็นกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรในคณะต่าง ๆ สูงสุดที่ 12 คน โดยอยู่ใน ชุดกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่บางชุด อย่างกรรมาธิการการตำรวจ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กลับไม่มี ส.ส.ผู้หญิงเข้าไปเป็นกรรมาธิการเลย

ฝั่งวุฒิสภา มีคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภารวม 27 คณะ ในจำนวนนี้ มีประธานคณะกรรมาธิการที่เป็นผู้หญิงอยู่ 2 คณะด้วยกัน คือ กรรมาธิการการต่างประเทศ มี นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ เป็นประธาน และกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นประธาน ผลงานในฐานะประธานกรรมาธิการจะเป็นอีกบทพิสูจน์การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของผู้หญิง

ทำไมต้องเรียกร้องให้หญิงเข้าไปมีสัดส่วนในการบริหารบ้านเมือง ?


ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มองว่าการปกครองโลกโดยรวม ยังมีลักษณะที่ให้ผู้ชาย เป็นผู้ปกครอง แต่ปัญหาสังคมจะแก้ไขไม่ได้เลยหากมีเพียงชายเป็นผู้ตัดสิน หรือรับผิดชอบ เพราะผู้ชายไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ได้อย่างไร

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้หญิงเข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบาย ตัดสินใจทางการเมือง จะลดความขัดแย้ง และแก้ไขความรุนแรงได้ โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชัน ที่ธรรมชาติของผู้หญิงจะช่วยทำให้เกิดความถูกต้องได้

 


เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล มองว่า สัดส่วนของคนกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มศักยภาพการกำหนดนโยบายของประเทศ ที่ยังคงต้องอาศัยปริมาณที่มากเพียงพอ จึงจะผลักดันนโยบายเฉพาะทางของคนแต่ละกลุ่มได้

แนวคิดการเพิ่มสัดส่วนหญิง-ชาย ถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ สิทธิเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม กำหนดนโยบายของประเทศ หากน้อยเกินไป ก็อาจจะดังไม่พอจะผลักดันนโยบายเฉพาะทางของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การเพิ่มสัดส่วนให้สมดุลจะทำให้การบริหารการเมืองสมดุล

นั่นเป็นเพราะว่าการเมือง คือ การมีคนมาช่วยออกแบบ แก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายทั้งจากชายและหญิง แต่หากระบบสังคมถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบเดิม แม้จะมีรัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ชัดเจน ก็อาจไม่สามารถทำให้ข้อกำหนดทางกฎหมาย เกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ จึงยังจำเป็นต้องปรับเจตคติของคนในสังคมให้มองเรื่องสิทธิสตรี เป็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

เวลานี้ไทยและทั่วโลกมีสัดส่วนเพศหญิงที่มากกว่าชาย ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองส่วนใหญ่ จึงยังผูกโยงกับเพศหญิง ทั้งในฐานะผู้แบกรับภาระการดูแล บทบาทความเป็นแม่ ที่ยังต้องการได้รับสิทธิที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพลังมากพอในการจัดการกับนโยบาย งบประมาณ ที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของสตรี และประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญในสังคม

ถึงวันนี้ จึงยากที่จะปฏิเสธแล้ว่า ไทยควรตื่นตัวกับการให้ผู้ประสบปัญหาโดยตรง เข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการบ้านเมืองได้มากที่สุดเท่าที่จะรับมือกับปัญหาสังคมที่อาจจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล : ข่าววาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง