"ราชทัณฑ์" ยืนยันตรวจคัดกรองโรค 14 ผู้ต้องขังชาวจีนเข้าใหม่

สังคม
29 ม.ค. 63
16:42
960
Logo Thai PBS
"ราชทัณฑ์" ยืนยันตรวจคัดกรองโรค 14 ผู้ต้องขังชาวจีนเข้าใหม่
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตรวจคัดกรองวัณโรคและเชื้อไวรัสโคโรนา ป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่ามีผู้ต้องขังชาวจีนเข้าใหม่ 14 คน กระจายในหลายเรือนจำทั่วประเทศ ตรวจคัดกรองแล้วไม่พบเข้าข่ายติดเชื้อ

วันนี้ (29 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีการตรวจคัดกรองวัณโรคและเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 380,000 คน กระจายในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ สภาพที่แออัดภายในเรือนจำจึงมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าปกติ

ส่วนผู้ต้องขังชาวจีน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 314 คน และตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 มีผู้ต้องขังชาวจีนเข้าใหม่อีก 14 คน กระจายในเรือนจำ จ.สมุทรปราการ เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา ปทุมธานี ซึ่งไม่ได้มาจากเมืองอู่ฮั่น และทั้งหมดจะถูกคัดกรองโรคตั้งแต่ที่ทำการศาล และจะถูกคัดกรองอีกครั้งก่อนเข้าเรือนจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ โดยหากพบผู้ต้องขังคนใดมีความสุ่มเสี่ยงจะถูกแยกตัวออกมาเพื่อเฝ้าระวังอาการ แต่ขณะนี้ยังไม่พบอาการป่วยที่เข้าข่าย มีเพียงอาการไข้หวัดเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าภายในเรือนจำมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสูงสุด

 

ขณะเดียวกันมีรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่พระราชทาน ซึ่งถูกนำมาใช้ในการตรวจร่างกายผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นประมาณ 200 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า 4,000 คน เพื่อคัดกรองวัณโรคและเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะผู้ต้องขังใหม่ในแดนแรกรับ

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้จัดทำโครงการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อส.รจ.) รุ่นที่ 1 โดยนำผู้ต้องขังชั้นดี 50 คน ซึ่งได้รับคัดเลือกอบรมให้ความรู้ทักษะด้านสุขภาพ เพื่อทำหน้าที่คัดกรองผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยเบื้องต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาฝึกอบรมวิชาชีพการพยาบาลเบื้องต้น จำนวน 5 วัน ตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถดูแลช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันที่มีอาการเจ็บป่วยกระทันหัน โดยมีเป้าหมายให้สามารถใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจได้ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ผู้ต้องขังมีความรู้ในการให้ความช่วยเหลือคนอื่น และใช้เป็นอาชีพช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้เมื่อพ้นโทษ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง