ป.ป.ส.ยัน "กัญชง" ยังผิดกฎหมาย หวั่นคนเข้าใจคลาดเคลื่อน

อาชญากรรม
30 ม.ค. 63
14:48
3,172
Logo Thai PBS
ป.ป.ส.ยัน "กัญชง" ยังผิดกฎหมาย หวั่นคนเข้าใจคลาดเคลื่อน
ป.ป.ส.หวั่นประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ย้ำขณะนี้ "กัญชง" ยังผิดกฎหมาย การดำเนินการใดๆ ยังต้องรอให้ร่างกฎหมายการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... มีผลใช้บังคับ

วันนี้ (30 ม.ค.2563) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยถึงการพิจารณา ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทดแทนกฎกระทรวงฯ เดิมที่มีความเข้มงวดและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หากเห็นชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

ปรับปรุงร่างกฎกระทรวงใน 4 เรื่อง

ทั้งนี้ ภายหลังร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับจะมีการปรับปรุงในเรื่องดังนี้ 1. ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่เดิม จำกัดเฉพาะเส้นใย ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างขึ้น เช่น การใช้ประโยชน์จากช่อดอก และเมล็ด เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ 2. แก้ไขให้ภาคเอกชนสามารถขออนุญาตได้ จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ

3. กำหนดให้ประชาชนที่มีการใช้ประโยชน์พืชกัญชงตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น ชาวเขาที่มีการใช้เส้นใยมาผลิตเครื่องนุ่งห่ม สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ และ 4.ส่งเสริมการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชง โดยในระยะ 5 ปีแรก จะห้ามมิให้นำเข้า เว้นแต่เฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัย”

หากสงสัย สอบถามสายด่วน 24 ชม.

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวว่า ป.ป.ส.ขอย้ำว่าขณะนี้กัญชงยังคงเป็นยาเสพติด เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชน โดยกัญชงถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยังคงห้ามมิให้ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่ที่อยู่ในรูปของเปลือก แกน ลำต้นแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสิ่งดังกล่าว หากมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จะต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องเสียก่อน และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร.1386 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง