ยืนยันติดเชื้อ 5 คนจากผู้ป่วย 19 คน พบเชื้อจากน้ำในปอด

สังคม
31 ม.ค. 63
17:20
55,665
Logo Thai PBS
ยืนยันติดเชื้อ 5 คนจากผู้ป่วย 19 คน พบเชื้อจากน้ำในปอด
คณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ ยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 คน จากผู้ป่วย 19 คน พบจากการตรวจน้ำท่วมปอด

วันนี้ (31 ม.ค.2563) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจูฑะ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ว่า ในที่ประชุมสรุปความคืบหน้าของการแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาระบาด ดังนี้

วันที่ 30 ม.ค. จำนวนผู้ป่วยในประเทศจีน
ที่ยืนยันว่าติดเชื้อ =7,711 คน
เป็นผู้ป่วยอาการหนัก = 1,370 คน
เสียชีวิต = 170 คน

ดังนั้นการที่จะดูความรุนแรง ไม่ได้ดูจากผู้ที่ยืนยันว่า ติดเชื้ออย่างเดียว เนื่องจากจะมีผู้ที่ติดเชื้ออยู่อีกมากมายที่ไม่ได้มีอาการหรืออาการน้อยมาก ต้องพิจารณาจากผู้ที่ต้องอยู่โรงพยาบาล คนที่อาการหนักและเสียชีวิต

ระบุถึง 31 ม.ค.มีผู้ติดเชื้อ-เข้าโรงพยาบาล 19 คน

ถึงวันที่ 31 ม.ค.2563 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเข้าโรงพยาบาล 19 คน ทุกรายมีความผิดปกติของปอดยืนยันจากการเอ็กซเรย์ โดยพบว่ามีปอดอักเสบ อาการ ใน 14 คนแรกอาการไม่มาก ยกเว้นในคนที่ 8 ที่ยังคงมีไข้ และยังคงต้องการออกซิเจนไนปริมาณสูง

ผู้ป่วยคนที่ 7 นำเชื้อให้ผู้ป่วยอีก 4 คน คือ คนที่ 9 / 11 / 12 / และ 13 โดยที่ไม่มีไข้หรือมีเล็กน้อย

ผู้ป่วยคนที่ 15 ถึง 19 ประกาศใหม่ ณ วันที่ 31 ม.ค.

คนที่ 15 มีติดเชื้อซ้ำซ้อนโดยแบคทีเรียเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ม.ค. และแสดงอาการวันที่ 25 ม.ค. และวันที่ 28 ม.ค. พบปอดบวม

ผู้ต้องสงสัยเป็นชาวจีนเดินทางมาที่เชียงใหม่

ผู้ป่วยอายุ 28 ปี ชาวจีน เดินทางจากเมืองจิ่งโจว มายังประเทศไทย โดยการโดยสารรถไฟไปอู่ฮั่น และขึ้นเครื่องบินออกจากอู่ฮั่นไปคุนหมิงในวันที่ 14 ม.ค.2563

วันที่ 15 ม.ค.2563 ออกเดินทางจากคุนหมิงมาเชียงใหม่
วันที่ 18 ม.ค.2563 มีน้ำมูกและไอเล็กน้อย
ผู้ป่วยได้มาเข้าตรวจรับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช ในวันที่ 21 ม.ค.ด้วยอาการไข้

เนื่องจากมีความตระหนักถึงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ผู้ป่วยจึงได้รับการแยกตัวอยู่ในห้องแยกความดันอากาศเป็นลบ สำหรับผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจ และได้สอบสวนโรคตามมาตรฐานคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

ตรวจจากแล็ป 2 แห่ง 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ

ผลการตรวจตัวอย่างจากช่องคอและจมูก “ไม่พบเชื้อการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” จากห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ รพ.จุฬาลงกรณ์

และเพื่อตอบสนองต่อแผนกการรองรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่มีจำนวนมาในเขต จ.เชียงใหม่ จึงได้ย้ายผู้ป่วยมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 22 ม.ค. ขณะนั้นภาพรังสีทรวงอกเป็นปกติ

ต่อมาในวันที่ 25 ม.ค.ผู้ป่วยยังคงมีไข้ คณะแพทย์ผู้รักษาจึงได้ตรวจหาเชื้อ nCoV ซ้ำอีกครั้ง แต่ผลการตรวจตัวอย่างจากช่องจมูกและคอยังคง “ไม่พบเชื้อการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” จากห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่ง

ตรวจน้ำในปอดพบเชื้อไวรัสโคโรนา

คณะแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยมีความตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร จึงติดตามรักษาผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ พบว่า ในวันที่ 27 ม.ค. ผู้ป่วยยังคงมีอาการไข้ คณะแพทย์จึงได้ตรวจภาพรังสีทรวงอกอีกครั้ง เมื่อพบว่ามีปอดอักเสบ จึงได้มีคำสั่งย้ายผู้ป่วยไปรับการรักษา ในห้องแยกความดันอากาศเป็นลบทันที

เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ จึงส่องกล้องทางหลอดลม และนำน้ำจากปอดไปตรวจเพิ่ม และเพิ่งได้รับการยืนยันในวันนี้ (31 ม.ค.) ว่า “พบเชื้อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” จากน้ำในปอดดังกล่าว

ขณะนี้ผู้ป่วยได้นอนรักษาอยู่ในห้องแยกความดันอากาศเป็นลบสำหรับผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจ ไข้ลดลงแต่ยังมีอาการเพลียอยู่บ้าง

เนื่องจากทางโรงพยาบาลตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้ใช้บริการ ตลอดจนบุคลากรทุกคน จึงได้วางแผนในการรับสถานการณ์ในทันที ที่ย้ายผู้ป่วยกลับไปยังห้องแยก งดรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยดังกล่าว และสังเกตอาการผู้ป่วยที่นอนอยู่ในหอผู้ป่วยเดียวกัน รวมทั้งได้แจ้งให้ผู้ป่วยที่เคยนอนอยู่ในหอผู้ป่วยดังกล่าวสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอหรือหายใจเหนื่อย ให้รีบกลับมาพบแพทย์ โดยทางโรงพยาบาลได้จัดสรรจุดตรวจอยู่ที่หน้าตึกนิมมานเหมินทร์

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังได้เฝ้าติดตามบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยคนดังกล่าว สำหรับบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัส ได้ให้หยุดปฏิบัติงานและสังเกตอาการในห้องแยกที่จัดไว้ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ติดเชื้อก่อนจะกลับมาปฏิบัติงานได้อีกครั้ง

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วย และบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีอาการผิดปกติ หรือพบว่าติดเชื้อดังกล่าว

สำหรับผู้ใช้บริการ และบุคลากรอื่นๆ ทางโรงพยาบาลมีมาตรการป้องกัน คัดกรอง และเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อมาโดยตลอด โดยกำหนดให้มีทางเข้า-ออกที่ต้องผ่านเครื่อง Thermoscan หรือจุดคัดกรอง ก่อนจะเข้าตัวอาคาร นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือที่ถูกวิธี เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

โรงพยาบาลยังเปิดทำการตามปกติ และขอประชาชน รวมถึงบุคลากรให้ความเชื่อมั่นว่าจะได้รับดูแลอย่างมีมาตรฐาน สมกับเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นนำที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนภาคเหนือมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 60 ปี

คนที่ 16 เป็นโชเฟอร์แท็กซี่

คนที่ 16 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่
ทั้งนี้โดย ระหว่างวันที่ 14 ม.ค.ถึงวันที่ 20 ม.ค. รับผู้โดยสารชาวต่างประเทศ ซึ่งมีอาการไอตลอดเวลา และใส่หน้ากาก
วันที่ 20 ม.ค.มีอาการป่วยไข้และปวดเมื่อยตามตัว
วันที่ 22 ม.ค.มีอาการปวดหัวและไข้ 38.1 และพบมีปอดบวม
วันที่ 27 ม.ค.ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน

ส่วคนที่ 15 การที่ผลแล็ปได้ผลลบ อาจจะเกิดได้จากความยากลำบากในการได้ส่งตรวจ แต่การที่แพทย์มีความระมัดระวัง ทำให้มีการติดตามการดำเนินของโรคและในที่สุดนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง