จีนชะลอลงทุนในนิคมฯใหม่ หลังไวรัสระบาด

เศรษฐกิจ
4 ก.พ. 63
13:19
1,103
Logo Thai PBS
จีนชะลอลงทุนในนิคมฯใหม่ หลังไวรัสระบาด
ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ ผู้บริหาร บริษัทซีพีจีซี ยอมรับว่า นักลงทุนจีนบางส่วน ชะลอการตัดสินใจลงทุนในนิึมอุตสาหกรรมในเขตอีอีซี แต่ยังมั่นใจทั้งปี จะสามารถขายพื้นที่ตั้งโรงงานในนิคมฯใหม่ จังหวัดระยอง ตามเป้าหมาย

วันนี้ (4 ก.พ.2563)​ ในพิธีลงนามสัญญา พัฒนาโครงการ นิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี จังหวัดระยอง แบ่งเป็นสัญญา  ด้านการเงิน และ งานรับเหมาพัฒนาพื้นที่โครงการ  ระยะที่ 1 จำนวน 1 พันไร่ ระหว่าง บริษัทซีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด / บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน และธนาคารกรุงไทย มูลค่า 5 พันล้านบาท

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซีพีจีซี กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่โครงการ ระยะทีี 1 จำนวน 1 พันไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ กำหนดเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานสาธารณูปโภคพื้นฐานในนิคมฯ  โดยอยู่ระหว่างสร้างโรงไฟฟ้่า ระยะแรก กำลังผลิต 38 เมกกะวัตต์ จากแผนการผลิตทั้งระบบ 100 เมกกะวัตต์ โดยจะตั้งบริษัทแยกออกจากบริษัทพัฒนานิคมฯ กับหุ้นส่วนอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า และยังคงตั้งเป้าหมายขายพื้นที่ ร้อยละ 70-80 ภายในปีนี้

แม้ขณะนี้ เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวลง และได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่ บริษัท มีหุ้นส่วนครึ่งหนึ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจจีน  ซึ่งรัฐบาลจีน ยังคงสนับสนุน โรงงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนมาลงทุนในนิคมฯ ซึ่งนักลงทุนจีน แสดงความสนใจซื้อพื้นที่ตั้งโรงงานแล้ว เช่น กลุ่มโรงงานอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ / ยางล้อรถยนต์/ อุตสาหกรรมวัสดุสมัยใหม่ เป็นต้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ นักลงทุนบางส่วน ชะลอการตัดสินใจลงทุน  รวมทั้ง แผนการลงทุนพัฒนาฯนิคม ระยะที่2  อาจล่าช้ากว่าที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรม ของเวียดนาม ยังมีกระบวนการทำงาน เพื่อเร่งรัดการลงทุนได้เร็วกว่าไทย  บริษัท จึงเตรียมแผนทำการตลาด ดึงดูดการลงทุนเอเชีย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาในจีน และยังคงเเดินสายโรดโชว์ในจีนตามกำหนดเดิม


ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ตั้งอยู่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พื้นที่กว่า 3,068 ไร่ ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ ด้วยงบลงทุนกว่า 5.6 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564 รองรับนักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะจัดสรรพื้นที่ราว 2,205 ไร่ ใช้สำหรับเป็นเขตประกอบกิจการอุตสาหกรรม และพื้นที่ราว 112 ไร่ สำหรับเขตพาณิชยกรรม พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 440 ไร่ และพื้นที่สีเขียวราว 309 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 5.6 หมื่นล้านบาท.

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง