สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม ในวันมาฆบูชา

สังคม
6 ก.พ. 63
18:04
3,421
Logo Thai PBS
สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม ในวันมาฆบูชา
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา วันเสาร์ ที่ 8 ก.พ.2563

วันนี้ (6 ก.พ.2563) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา วันเสาร์ ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ความว่า

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ในดิถีเพ็ญเดือน 3 ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ขณะประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุและเป็นพระอรหันต์ โดยมีหลักการสำคัญที่ทรงพระมหากรุณาประทานไว้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ 1. การไม่ทำบาปทั้งปวง 2. การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม และ 3. การชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง

สารัตถะแห่งโอวาทปาติโมกข์นั้น นอกจากเป็นการประทานหัวใจของพระพุทธศาสนา ยังทรงสั่งสอนหลักสำหรับการเผยแผ่พระศาสนาไว้ด้วย มีหลัก 2 ประการแรกว่า การไม่กล่าวร้าย และการไม่ทำร้าย เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ผู้สดับพระธรรมเทศนาเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน ล้วนเป็นพระภิกษุบริษัท หากแต่พระธรรมย่อมเป็นของสาธารณะสำหรับทุกชีวิต ที่ควรน้อมนำเข้ามาสู่ตน ไม่จำกัดว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนจึงพึงน้อมนำหลักการ ‘ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย’ มาเป็นพื้นฐานของการครองตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยกระแสข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ บิดเบือน หรือยุยง ซึ่งอาจนำไปสู่ความร้าวฉานถึงขั้นประหัตประหารกัน

หากทุกท่านยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะไม่กล่าวร้าย และไม่ทำร้ายใครๆ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ตามหลักการของโอวาทปาติโมกข์ ถ้าท่านได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจ ก่อให้เกิดความโกรธเคือง หรือขุ่นข้องหมองใจ ท่านย่อมสามารถระงับการกระทำทางกายและทางวาจาที่เกรี้ยวกราด หยาบช้า หรือรุนแรงไว้ได้ ก่อให้เกิดสันติภาพในหมู่คณะรอบตัวท่าน อันจักขยายผลไปสู่ชาติบ้านเมือง และสังคมโลกได้ในที่สุด

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง