สธ.เผยเหตุสลดโคราช มีผู้เสียชีวิต 20 บาดเจ็บ 31 คน

อาชญากรรม
9 ก.พ. 63
01:02
7,663
Logo Thai PBS
สธ.เผยเหตุสลดโคราช มีผู้เสียชีวิต 20 บาดเจ็บ 31 คน
กระทรวงสาธารณสุข เผยเหตุกราดยิง จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บ 31 คน พร้อมระดมแพทย์ผ่าตัด แพทย์-พยาบาลฉุกเฉินกว่า 100 คนในพื้นที่ และเตรียมห้องผ่าตัด ห้องไอซียู สำรองเลือดกว่า 1,700 ยูนิต

เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 23.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามสถานการณ์เหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 9 ได้ประสานขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนใน จ.นครราชสีมา และใกล้เคียง ระดมทีมแพทย์ ทีมผ่าตัด พยาบาลกว่า 100 คน และมีพยาบาลสำรองในโรงพยาบาลอีกกว่า 200 คน เตรียมห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยหนัก สำรองเลือดไว้แล้วกว่า 1,700 ยูนิต พร้อมดูแลผู้บาดเจ็บให้ดีที่สุด

 

สำรองเลือด-ระดมแพทย์สนับสนุน

นอกจากนี้ ยังได้สำรองเลือด หอผู้ป่วยหนัก ระดมทีมแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ด้านศัลยกรรม เวชศาสตร์ฉุกเฉิน วิสัญญี จิตแพทย์ พยาบาล จากสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต พร้อมเดินทางสนับสนุนในพื้นที่ทันที

กำชับให้ทีมรักษาทำงานเต็มที่ให้ผู้บาดเจ็บปลอดภัย และขอความร่วมมือประชาชน งดแชร์ภาพเหตุการณ์ ระงับการวิจารณ์

ทั้งนี้ ณ เวลา 23.00 น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 20 คน โดยเสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ 16 คน ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 3 คน และโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 คน) มีผู้บาดเจ็บ 31 คน กำลังผ่าตัด 4 คน และอยู่ไอซียู 6 คน

 

"กรมสุขภาพจิต" ส่งทีมเข้าดูแลจิตใจ

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากวิกฤตน้ำมือมนุษย์ที่มีความมุ่งหมายเอาชีวิตนั้น จะส่งผลรบกวนความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ที่เกิดเหตุ แม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรงก็ตาม ผลกระทบนี้ ยังสามารถเกิดแก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เตรียมการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเตรียมส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤตสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน

 

แนะแนวทางดูแลผลกระทบทางจิตใจ

นอกจากนี้ เพื่อดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด ดังนี้ 1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้

2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้, 3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญานของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง

 

 

4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ, 5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก และ 6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้

ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง