นักอาชญาวิทยาแนะไม่เผยแพร่ภาพรุนแรง-คำนึงผลกระทบสังคม

อาชญากรรม
10 ก.พ. 63
08:39
1,876
Logo Thai PBS
นักอาชญาวิทยาแนะไม่เผยแพร่ภาพรุนแรง-คำนึงผลกระทบสังคม
ผลวิจัยชี้การนำเสนอภาพความรุนแรง หรือพูดชื่อผู้ก่อเหตุบ่อยๆ เป็นการสร้างให้บางคนคิดว่าเป็นฮีโร่แล้วเลียนแบบพฤติกรรม ขณะที่นักอาชญาวิทยาแนะหน่วยงานในไทยควรยกระดับการรายงานข่าว ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรง คำนึงผลกระทบต่อสังคม ผู้เสียหาย และครอบครัวผู้ก่อเหตุ

เมื่อวานนี้ (9 ก.พ.2563) นายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และทีมก่อตั้ง Thai Cofacts (โคแฟก) องค์กรต่อต้านการสร้างข่าวลวงเพื่อสร้างความตื่นตระหนก เปิดเผยถึงการเผยแพร่ภาพความรุนแรงใน จ.นครราชสีมา ว่า ขาดความระมัดระวังการนำเสนอ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยคล้ายกับในต่างประเทศ ซึ่งในสหรัฐฯ ได้ให้คำแนะนำผลกระทบจากการเผยแพร่ภาพความรุนแรงและวางแนวทางปฏิบัติในสายงานวิชาชีพสื่อใน 3 ด้าน คือการรายงานข่าวการกราดยิงในที่สาธารณะ สามารถนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ หรือการรายงานข่าวที่พูดถึงชื่อผู้ก่อเหตุบ่อยครั้งจนสร้างความรู้สึกให้คนกลุ่มหนึ่งว่าผู้ก่อเหตุคือฮีโร่

 

 

และการระบุว่าผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิต แต่ผลวิจัยพบว่าผู้ก่อเหตุที่ยิงกราดในที่สาธารณะยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตมาก่อน รวมถึงการรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบ จะลดความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรงในอนาคต เช่น ควรคำนึงถึงผู้เสียหาย หรือแม้แต่ตัวผู้ก่อเหตุเอง บางครั้ง ต้องคำนึงถึงครอบครัวผู้ก่อเหตุด้วย หรือการเลี่ยงใช้คำรุนแรง เช่น บ้าคลั่ง เป็นคำที่ปลุกให้เกิดการก่อเหตุมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงต่างประเทศ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในไทยควรยกระดับและสร้างแนวทางปฏิบัติการรายงานข่าวของสื่อสู่สากล โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมเช่นเดียวกัน

แนะสื่อฯ งดเผยแพร่ภาพรุนแรง เลี่ยงพฤติกรรมเลียนแบบ

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สื่อควรงดนำเสนอภาพการเคลื่อนกำลังของเจ้าหน้าที่ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต รวมถึงการนำเสนอข้อมูลผู้ก่อเหตุ ไม่ควรเน้นที่ตัวบุคคลมากจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และไม่ควรนำเสนอข้อมูล จนทำให้ครอบครัวของผู้ก่อเหตุได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

 

สำหรับการนำเสนอภาพควรเคารพสิทธิ์ผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ อย่างโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติงานข่าวในสถานพยาบาล ละเว้นการถ่ายภาพหน้าของผู้ป่วย เคารพสิทธิผู้ป่วย โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัว ไม่เป็นอุปสรรคการทำงานของแพทย์ ไม่รบกวนผู้มาใช้บริการอื่นๆ หรือญาติผู้มาใช้บริการ

ส่วนประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำเสนอข้อมูล ควรระมัดระวังการเผยแพร่ ที่อาจเป็นภัยให้กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งภาพนิ่งและคลิปที่แสดงความรุนเเรงที่อาจทให้เกิดความรุนเเรงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต โดยต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจครอบครัวผู้ที่สูญเสียด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง