ในหูเป่ยวันเดียวพบป่วยเพิ่ม 1.4 หมื่นคน จีนใช้เกณฑ์ตรวจใหม่

ต่างประเทศ
13 ก.พ. 63
16:10
2,546
Logo Thai PBS
ในหูเป่ยวันเดียวพบป่วยเพิ่ม 1.4 หมื่นคน จีนใช้เกณฑ์ตรวจใหม่
มณฑลหูเป่ยตอนกลางของจีน ศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 หรือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 14,840 คน ภายในวันเดียว หลังปรับเกณฑ์วินิจฉัย คาดส่งผลควบคุมการระบาดไวรัสได้ดียิ่งขึ้น

วันนี้ (13 ก.พ.2563) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพมณฑลหูเป่ย ระบุว่า ตัวเลขผู้ติด COVID-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีอัตราปรับเพิ่มรายวันสูงสุด พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 14,840 คน และมีผู้เสียชีวิตใหม่ในหูเป่ยเพียงวันเดียวถึง 242 คน 


ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลในหูเป่ยรวมอยู่ที่ 48,206 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมสูงถึง 60,329 คน ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 1,369 คน (13 ก.พ. เวลา 10.30 น.) โดยการนับรวมผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลพุ่งสูงขึ้น

แผนการวินิจฉัยและรักษาโรคระบาดฉบับล่าสุดของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) กำหนดว่าผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีผลซีทีสแกน ซึ่งบ่งชี้ความเกี่ยวพันกับโรคปอดอักเสบ จะถูกนับเป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกด้วย โดยคณะกรรมการสุขภาพมณฑลหูเป่ย เปิดเผยว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การวินิจฉัย มีเป้าหมายช่วยให้บุคคลที่ได้รับการ
วินิจฉัยทางคลินิกได้รับการรักษาตามมาตรฐานผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลอย่างทันท่วงที เพื่อยกระดับอัตราการรักษาสำเร็จยิ่งขึ้น

แพทย์ไทยแนะเรียนรู้ซีทีสแกนจากจีน กวาดล้าง COVID-19

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาสภากาชาดไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือการคัดกรองของประเทศจีนซึ่งส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระบุ การมองทะลุถึงโรคระบาดร้ายแรงด้วยการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมของประเทศจีน

เมื่อได้อ่านวารสารรายงานจากประเทศจีนถึงไวรัส Covid 2019 ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563 ทุกคนแปลกใจว่าผู้ป่วยทุกรายนั้นได้รับการตรวจปอดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจด้วยเอ็กซเรย์ธรรมดา แต่จากรายงานต่อจากนั้นทำให้เราทราบว่าคณะแพทย์ของประเทศจีนควรจะได้รับทราบข้อจำกัดและประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของการใช้คอมพิวเตอร์โดย การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์นั้นสามารถ

ภาพ : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ภาพ : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ภาพ : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

  1. ระบุได้แม่นยำและใช้เวลารวดเร็วกว่าการตรวจหาสารพันธุกรรมจากน้ำในช่องโพรงจมูกด้านหลังและจากลำคอและจากเสมหะว่ามีการติดเชื้อไวรัสตัวนี้จริง

  2. ทำให้สามารถบอกลักษณะเฉพาะตัวของผู้ติดเชื้อโรคนี้ได้ว่าแม้แทบไม่มีอาการเลยแต่ก็มีปอดอักเสบได้ชัดเจนจากการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ และสามารถเป็นผู้แพร่เชื้อต่อไปอีกได้

  3. ทำให้ทราบว่าปอดอักเสบหรือปอดบวมจากไวรัสตัวนี้มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับที่เกิดจากไวรัสตัวอื่นหรือแบคทีเรียตัวอื่น และเกิดจากภาวะอื่นที่พ่วงมาเช่นจากการที่หัวใจวาย

  4. นอกจากนั้นทำให้นำมาถึงการตั้งคำถามว่ากลไกของปอดอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวไวรัสอย่างเดียวหรือเกิดขึ้นจากการอักเสบที่มาจากการที่ร่างกายพยายามต่อสู้กับไวรัสมากเกินไป ทั้งนี้การพิเคราะห์ผู้ป่วย 1,099 คน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนักนั้นมีถึง 25% ที่ไม่มีปอดอักเสบในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการเบานั้นมีเพียง 5% ที่มีปอดอักเสบ

  5. และในวันที่ 13 ก.พ.ทางประเทศจีนได้ประกาศตัวเลขใหม่ของผู้ติดเชื้อโดยใช้ผลของการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ทางปอด ในการระบุผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ทำให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่อาจเป็นไปได้ว่าถึงเวลาแล้วที่ทางประเทศจีนจะทำการกวาดล้างไวรัสตัวนี้ด้วยการระบุผู้ที่ติดเชื้อให้ได้ทุกคนและป้องกันการแพร่โรคนี้ไปสู่คนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
ใครจะว่าประเทศจีนไม่เก่ง สู้ฝรั่งไม่ได้ จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้โดยที่องค์การอนามัยโลกประกาศกำหนดต่างๆ ประเทศไทยน่าจะเรียนรู้จากประเทศจีนมากกว่า

ผู้ป่วยภาวะวิกฤตสะสม อาจส่งผลตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่ง

ทั้งนี้ สำหรับกรณียอดเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นถึง 242 คนภายในวันเดียวนั้น ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา พบว่า การรายงานตัวเลขผู้ป่วยของจีน โดยปกติแล้วจะรายงานอาการโดยมีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยภาวะวิกฤตสะสมในจีน วานนี้อยู่ที่ 8,242 คน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทยอยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

สำหรับระดับของอาการนั้น เริ่มจากระดับ 0 ไม่พบการติดเชื้อ ไม่มีอาการใดๆ ระดับ 1 ยังสามารถเดินทางได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ ระดับ 2 เริ่มติดขัดต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ระดับ 3 ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ใช้เครื่องออกซิเจน

ระดับ 4 รับการรักษาในโรงพยาบาล ใช้เครื่องออกซิเจน ระดับ 5 ใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ต้องสอดท่อ ระดับ 6 ใช้เครื่องช่วยหายใจ สอดท่อ ระดับ 7 ใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต ในระบบต่างๆ เพิ่ม และสุดท้ายระดับ 8 เสียชีวิต โดยเมื่อเริ่มใช้เครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจนในระดับสูงตามการวินิจฉัยของจีนจะถือว่าเป็นผู้ป่วยภาวะวิกฤต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง