วงเสวนากรณีศึกษาเหตุรุนแรงโคราช ชี้ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องไกลตัว

การเมือง
15 ก.พ. 63
12:36
666
Logo Thai PBS
วงเสวนากรณีศึกษาเหตุรุนแรงโคราช ชี้ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องไกลตัว
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นเจ้าภาพเสวนาทางวิชาการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่โคราช โดยผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกชี้ปรากฎการณ์ที่เทอมินอล 21 โคราช เป็นสัญญาณอันตรายเตือนสังคมให้ตระหนักรู้ว่าความมั่นคงไม่ใช่เรื่องไกลตัว พร้อมเสนอสร้างระบบ

วันนี้ (15 ก.พ.2563) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เปิดเวทีเสวนาความมั่นคงกับชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน

พล.ต.ดิเรก ดีประเสริฐ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการกังวลต่อปรากฎการณ์เหตุรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา และไม่เฉพาะเหตุการณ์นี้ แต่ในปัจจุบันสังคมไทยมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นสะท้อนว่าสังคมไทยกำลังป่วยหรือไม่ และเป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนให้ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงปลอดภัย

ทั้งนี้ กฎหมายอาจจะไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาความรุนแรงได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ของคนในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยมองเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นเรื่องไกลตัว และมีการใช้ความรุนแรงผ่านโลกออนไลน์

แต่เชื่อว่าเหตุทหารนำอาวุธปืนออกมาทำร้ายประชาชนหลังจากนี้จะเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่เกิดขึ้นอีก โดยยกทฤษฎีทางวิชาการด้านความมั่นคงที่ชี้ว่าความขัดแย้งในสังคมนำมาซึ่งการปฏิรูปครั้งใหญ่ รวมไปถึงการปฎิรูปกองทัพเรื่ิองอื่น ๆ ทั้งสวัสดิการเชิงพาณิชย์และธุรกิจสื่อของกองทัพ เช่นเดียวกับเหตุชุมนุมทางการเมืองที่ปัจจุบันมีมาตรการจัดการที่เข้มงวดขึ้น

ทั้งนี้เหตุการณ์รุนแรงที่ จ.นครราชสีมา ถือเป็นกรณีศึกษาในการดูแลความปลอดภัยชีวิตคนในสังคม การระงับยับยั้งเหตุรุนแรงที่รวดเร็ว และสร้างการความตื่นตัวของคนในสังคม พร้อมเสนอว่า สถานที่ชุมชนควรจะมีระบบเตือนภัย และรักษาชีวิตผู้คนที่เป็นมืออาชีพและเข้มแข็งมากขึ้น เช่น การควบคุมภายในอาคาร และการอพยพประชาชน

ขณะที่ ผศ.ศรีรัตน์ โกวงศ์ นักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนถึงสภาพสังคมปัจจุบันว่า อยู่ในยุคเน็ตสเตท และมีพลเมืองทางไซเบอร์ รวมทั้งมีระบบสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งอำนาจรัฐควบคุมไม่ทั่วถึง เป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรม ฟอกเงิน หลีกเลี่ยงภาษี ก่อการร้าย จัดหาอาวุธสงคราม

ส่วน ผศ.ธนพร ศรียากูล นักวิชาการสาขาวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา ในเชิงปรากฎการณ์คือการใช้ความรุนแรง แต่ในเชิงโครงสร้างสะท้อนถึงการถูกกระทำที่สืบเนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเรื่ิองใหญ่ของสังคม และถ้าไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ก็อาจจะมีการแสดงออก หรือการเรียกร้องสิทธิโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคง

การเสวนาในหัวข้อความมั่นคงกับชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาด้านความมั่นคงศึกษาประจำปี 2563 โดยโรงเรียนเสนาธิการทหารบกร่วมกับอีก 5 สถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา หมุนเวียนจัดเสวนาความมั่นคง 2 เดือนครั้ง เพื่อนำเสนอมุมมองหลากหลายและต่อยอดการศึกษาเรื่องความมั่นของชาติต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง