ครม.ต่อสัมปทานทางด่วน BEM 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาท

เศรษฐกิจ
18 ก.พ. 63
18:46
2,935
Logo Thai PBS
 ครม.ต่อสัมปทานทางด่วน BEM 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาท
ครม.เห็นชอบต่อสัญญาสัมปทาน BEM ในการบริหารและจัดเก็บค่าผ่านทางทางด่วน ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ BEM รวม 17 คดี

วันนี้ (18 ก.พ.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อพิพาท คิดเป็นมูลหนี้ 78,908 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ, บี และซี ขยายสัมปทานเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาในวันที่ 28 ก.พ.2563 สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ส่วนดี ขยายเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาในวันที่ 22 เม.ย.2570 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือส่วนซีบวก ขยายเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 27 ก.ย.2569 ซึ่งทั้งสัญญาทั้ง 3 ฉบับ จะสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578

 

 

ขณะที่ในส่วนของ 17 คดี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. การผิดสัญญาโดยรัฐบาลสร้างทางแข่งขัน 2. ไม่ขึ้นค่าผ่านทางตามเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และ 3.เรื่องอื่นๆ ที่ได้มีการให้ กทพ.ศึกษา โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 ที่ได้มีการสั่งการให้เจรจาในคดีการไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางและคดีอื่นๆ นั้นยุติลงเหลือเพียงคดีการสร้างทางแข่งขัน

ชี้ข้อพิพาทมาจาก 2 เรื่องหลัก

ในที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาว่า กทพ. และ BEM มีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันใน 2 เรื่องหลัก คือการสร้างทางแข่งขัน และการไม่ให้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามสัญญา ซึ่งรวมทั้งหมด 17 คดี ซึ่งมีถึง 3 คดีที่ BEM ฟ้องไปสู่อนุญาโตตุลาการจนถึงศาลปกครองสูงสุด และ กทพ.แพ้ทั้งหมด ซึ่งคดีแรก ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว คือการสร้างทางแข่งขันทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยศาลสั่งให้ กทพ.ชดเชยค่าเสียหาย 1,700 ล้านบาท และเมื่อนับรวมดอกเบี้ยมูลหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4,300 ล้านบาทแล้ว และยังมีอีก 2 คดีที่ กทพ.แพ้เช่น โดยมี 1 คดีที่ศาลตัดสินให้ กทพ.ชนะ ซึ่งมีมูลค่ารวม 491 ล้านบาท 

หวั่นต่อสัญญาไม่ทันมูลหนี้พุ่ง

 

ทั้งนี้ คดีกลุ่มแรก ศาลตัดสินให้ BEM ชนะ ส่วนคดีกลุ่มที่ 2 มีแนวโน้มว่า BEM จะชนะเช่นเดียวกัน จึงรวมมูลหนี้้ทั้งหมดเป็น 78,908 ล้านบาท ทาง ครม.จึงให้คำนวณมูลหนี้ชดใช้เป็นการขยายเวลาที่ต้องขยายออกไป 19 ปี 1 เดือน จึงเจรจาขอลดเวลาเหลือ 15 ปี 8 เดือน พร้อมขอให้งดเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามมติ ครม. และยกข้อที่จะเกิดการพิพาทในอนาคตที่อยู่ในสัญญาออกทั้งหมด โดยรัฐบาลได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้มีการเร่งพิจารณาขยายสัญญา เนื่องจากสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.นี้ และจะไม่สามารถต่อสัญญาได้ ต้องประกวดราคาใหม่ ซึ่งจะถูกดอกเบี้ยทบจนมูลหนี้จะสูงถึง 300,000 ล้านบาท

ลงนามสัญญาภายใน 28 ก.พ.

สำหรับการทำสัญญาฉบับใหม่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อลงนามสัญญาภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อทำให้สัญญาต่อเนื่อง ส่วนเงื่อนไขส่วนแบ่งรายได้ยังคงเดิม คือ กทพ.ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 ส่วน BEM จะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 40 และยังมีสิทธิในการเจรจาต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี แต่ทางภาครัฐมีสิทธิในการพิจารณาไม่ต่อสัญญาก็ได้ และจะปรับค่าผ่านทางได้ครั้งเดียว คือ 10 ปีข้างหน้า ปรับขึ้น 10 บาท ส่วนการก่อสร้างและปรับปรุงทางพิเศษชั้นที่ 2 (Double Deck) จะไม่รวมกับการขยายสัมปทานทางด่วนครั้งนี้ โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้เวลาศึกษาโครงการ 2 ปี

 

มอบหมาย DSI ตรวจสอบค่าโง่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการก่อสร้างและปรับปรุงทางพิเศษชั้นที่ 2 ที่ กทพ.ศึกษาว่าจะเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาการจราจร และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการใช้ทาง โครงการนี้ถือเป็นปัญหาใหม่ กระทรวงคมนาคมจึงยังไม่มีการเสนอให้ไว้ในร่างสัญญาฉบับใหม่ โดยเบื้องต้นทราบว่าจะมีการศึกษาสร้างทางให้ยาง 17 กิโลเมตร และเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งยังติดปัญหาเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงให้เวลาเอกชนไปศึกษาและรอวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก 2 ปี ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้มอบหมายให้อัยการไปร่วมดำเนินการให้ BEM ถอนฟ้องทั้งหมดโดยเร็วที่สุด และมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปตรวจสอบหาผู้ที่ทำให้ กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีที่ถูกฟ้องร้องเรื่องการสร้างทางแข่งขันแล้วต้องเยียวยาให้เอกชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง