ความรุนแรง ซ่อน-หา ‘โคราช’ ประเทศไทย ตอนที่ 1

Logo Thai PBS
ความรุนแรง ซ่อน-หา ‘โคราช’ ประเทศไทย ตอนที่ 1
มันคือ "การข้ามเส้นที่สำคัญ" วันที่เกิดเหตุเป็นวันมาฆบูชา แต่เหตุการณ์นั้นมันผลักวันศักดิ์สิทธิหายไป แปลว่าความศักดิ์สิทธิในประเทศนี้ หยุดความรุนแรงไม่ได้อีกแล้ว คุยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ติดตามข่าวกราดยิงที่โคราชด้วยความรู้สึกอย่างไร

เศร้าใจ เป็นห่วง และสงสาร และมีความรู้สึกว่าเราเคยคุยกันเรื่องอนาคตของสังคมไทยมาก่อนหน้านี้ ผมก็ได้เคยคุยกับสื่อมวลชนและเตือนๆ ไว้เหมือนกันว่า ประเทศนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง และความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้จากมุมใดมุมหนึ่ง ที่ทำมาตลอดคือพยายามจะเตือนว่าสังคมไทยอย่าประมาท เพราะเราชอบคิดว่าสังคมเราเป็นสังคมพุทธ เป็นสังคมที่ดีงาม เป็นสังคมที่โอบอ้อมอารี

แต่ในงานวิจัยที่ทำมาตลอดหลายปีบอกว่า แม้มันมีส่วนดี แต่ก็ไม่ได้ต่างจากสังคมอื่นในโลกนี้ มีความรุนแรงอยู่ในที่ต่างๆ ความทารุณโหดร้ายที่กระทำในสังคมต่อกัน อย่างกรณี 6 ตุลา ที่เกิดขึ้นกลางเมือง เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่ของแปลกในสังคมไทย มันเกิดขึ้นทั่วไป

เหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นให้ความสนใจกับอะไร

ก็คงเหมือนคนอื่นในประเทศ แต่ไม่ใช่แค่ถามว่าจะจบลงอย่างไร เพราะว่ามีสถิติที่พูดถึงการยิงคนเยอะๆ ในต่างประเทศ ที่เรียกว่า Mass killing ส่วนใหญ่จบแบบเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนทำฆ่าตัวตายเองหรือถูกยิง ที่ถูกจับมีน้อย
ผมก็เกรงว่ามันจะจบเช่นนั้น แล้วก็คิดต่อไปว่า ปริมาณคนที่ถูกสังหาร พื้นที่ วิธีการจัดการ คนบริสุทธิ์ที่อยู่ในนั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่เองที่แม้มีหน้าที่แต่เขาก็เป็นคนบริสุทธิ์ เขาเพียงทำหน้าที่ปกป้องชีวิตผู้คน ความสูญเสียพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย

ความเป็นห่วงเกิดขึ้นบนฐานข้อมูลที่มีประสบการณ์จากที่อื่น

พูดตามตรง ใช่ ก็พอคาดคะเนได้ว่า จะจบลงแบบไหน เพียงแต่ตอบไม่ได้ว่า จำนวนความสูญเสียที่เกิดมันจะมากขนาดนี้ แต่ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้ เวลาเราพูดถึงจำนวนกับความสูญเสีย ผมคิดว่าแม้คนเดียวก็มีคุณค่า ผมไม่อยากเอาประเด็นจำนวนมาเป็นเรื่องหลัก ผมคิดว่ามีเรื่องอื่นสำคัญกว่า

คิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเหตุการณ์นี้

ผมสนใจว่าความรุนแรงนี้ มันข้ามเส้นอะไร เวลามันข้ามเส้นที่ไม่เคยข้าม แล้วอยู่ดีๆ มันข้าม ซึ่งพอข้ามแล้วมันจะเปลี่ยนคุณภาพของปัญหาที่เรากำลังเจอ เช่น ปัญหาภาคใต้ ถามผู้รู้ก็จะบอกว่า ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นในวันที่ 4 ม.ค.2547 มีการปล้นปืน เจ้าหน้าที่ที่ค่ายเสียชีวิต โจรจำนวนเท่านั้นเท่านี้บุกเข้าไป

สำหรับผม วันนั้นไม่สำคัญเท่าไหร่เพราะมันไม่ได้ข้ามเส้น แต่วันที่ข้ามเส้นในกรณีของความรุนแรงครั้งใหม่ของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เรารู้สึกถึงนัยยะของมันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ วันที่ 22 ม.ค.2547 คนส่วนใหญ่ไม่จำ แต่สำหรับผมวันที่ 22 สำคัญกว่าวันที่ 4 เป็นเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตรในพื้นที่ พอกลับมาท่านถูกผู้ก่อการทำร้ายจนมรณภาพ

หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นติดๆ กันอีกหลายครั้ง พระสงฆ์หลายรูปเสียชีวิตติดกัน สำหรับผม นี่คือการข้ามเส้น เพราะการต่อสู้ระหว่างรัฐกับผู้ก่อการนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเหตุผลต่างๆ แต่นั่นคือผู้ก่อการก็ต่อสู้กับฝ่ายรัฐ เป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง อันนี้ไม่แปลก ในประวัติศาสตร์ 100 ปี ของความสัมพันธ์กรุงเทพกับปัตตานีไม่แปลก สำหรับผม

แต่ในร้อยปีนี้ ไม่เคยเลยที่พระสงฆ์จะตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ตกเป็นเหยื่อครั้งที่หนึ่ง ก็จะมีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม แล้วก็มีอิหม่ามตกเป็นเหยื่อ พอวัดตกเป็นเหยื่อ มัสยิดก็ตกเป็นเหยื่อ เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ เพราะเวลาที่มีดเชือดคอพระสงฆ์จนมรณภาพ มีดอันนั้นไม่ใช่แค่ตัดคอคน แต่มันตัดความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธกับมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งเขาเคยอยู่กันมาด้วยดี เขาคุ้นกับการสู้กันระหว่างรัฐกับผู้ก่อการ แต่ทำร้ายพระสงฆ์นี่อีกเรื่อง มันพาสังคมไทยไปอีกที่หนึ่ง อย่างนี้คือความรุนแรงที่ข้ามเส้น กรณีโคราชก็เช่นเดียวกัน มีการข้ามเส้นหลายเส้นที่สำคัญ

ยกปัญหาชายแดนใต้เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่โคราช

เพื่อตอบคำถามว่าทำไมเหตุการณ์โคราชสำคัญ เพราะมันมีการข้ามเส้น โดยอธิบายว่าข้ามเส้นคืออย่างไร กรณีของโคราชก็เช่นเดียวกัน มีการข้ามเส้นหลายเส้นที่น่าสนใจ วันนั้นมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งที่บ้านผู้บังคับบัญชา 2 ศพ นั่นก็เหตุผลหนึ่ง เพราะโมโห อีกทั้งยังมีการปล้นปืนที่ค่ายและยิงทหารตาย นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ระหว่างทาง รวมภึงเทอร์มินอล 21 แต่ละเหตุการณ์ แต่ละที่ มันเป็นความรุนแรงด้วยเหตุผลคนละอย่าง ถ้าเทียบกัน อันแรกเป็นการแก้แค้น อันที่สองเป็นการปล้น อันที่สาม เป็นการยิงคนที่จะมาขัดขวาง แต่พอเข้าไปในเทอร์มินอลก็เป็นอีกอย่าง

ตอนหลังมีคำถามว่าทำไมไปที่เทอร์มินอล คำตอบก็คือ เขาไปที่วัด แล้วคนที่วัดบอกว่า ดูเหมือนเขาไปตามหาภรรยาของนายพัน แล้วมีคนบอกว่าอยู่ที่เทอร์มินอล แกก็ตามไปที่เทอร์มินอล ดังนั้น ความโกรธก็ไปกับแก แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อกลับเป็นเหยื่อคนที่ไม่เกี่ยวข้อง

ถ้าเรายิงคนที่เราโกรธ อันนี้มันอธิบายได้ แต่พอไปยิงคนที่ไม่เกี่ยวอะไรด้วย อันนี้ก็ข้ามเส้นอีก มันพาความรุนแรงในพื้นที่ไปที่อื่น มันไปที่อื่นก็เพราะว่านับจากนี้คนทั่วไปจะไม่สามารถคิดว่าชีวิตเราปกติอีกต่อไป

อีกเส้นที่สำคัญคือ วันที่เกิดเหตุเป็นวันมาฆะบูชา เป็นวันพระใหญ่ แต่เหตุการณ์วันนั้น พาอารมณ์ของสังคมไปอีกที่หนึ่ง เวลาบอกว่าเราเป็นคนบริสุทธ์ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ทำไมโดนอย่างนี้ คือมันไปสั่นทะเทือนสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด มันมาแทน Normality หรือความปกติของชีวิต ซึ่งก็คือพื้นที่สำคัญสำหรับวันศักดิ์สิทธิอย่างวันนั้น แต่เหตุการณ์นี้มันทรงพลังมาก มันผลักวันศักดิ์สิทธิ์หายไป

ดังนั้น การข้ามเส้นนี้มันมากกว่าที่เราคิด แต่คำตอบไม่ได้อยู่ที่ต้องสอนพุทธศาสนามากขึ้น แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ แล้วมันส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย

เหตุการณ์ที่เศร้าโศกขนาดนี้ เกิดขึ้นในวันสำคัญทางศาสนาได้อย่างไร

ถ้าเราดูย้อนกลับ พุทธศาสนาดำรงอยู่ด้วยการอธิบายว่า ทำชีวิตต้องมีสติ เราต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งซึ่งมารบกวนจิตใจหรืออคติต่างๆ ที่มีอยู่ แต่ว่าในวันนั้น พวกนั้นหายไปหมด มันหายไปจากจอภาพทางความคิดหมดเลย มันหายไปจากโลกของคนร้าย ก็เลยมีคำถามว่า ทำให้คนในสังคมไทยหวนไปคิดถึงเรื่องนี้หรือหายตามไปด้วย

ผมกลัวมันหายตามไปด้วย เพราะสิ่งที่เห็นในไลน์ของกลุ่มเพื่อนที่เขียนมาจำนวนมาก บอกว่าฆ่ามันเลย เอาชีวิตมัน คือมันสร้างความรู้สึกเกลียดชังมากขึ้น อย่างนี้น่ากลัว ไม่มีใครในนั้นคิดเลยว่า วันนี้วันมาฆะบูชา พุทธองค์กำลังสอนให้เราทำดีละความชั่ว ซึ่งเมื่อเจอเหตุแบบนี้คืออะไร เราจะจัดการกับชีวิตและสังคมอย่างไร

แน่นอนว่าในเหตุการณ์ก็ได้เห็นว่ามีคนดีที่เสียสละชีวิตตนเอง คนที่ช่วยเหลือคนอื่น แต่เหมือนเรื่องนี้มาทีหลัง ตอนแรกมันถูก Visual หรือภาพความรุนแรงบังหมด นี่คือพลังของความรุนแรง นักปรัชญาบางคนบอกว่า มันจะดูดคุณเข้าไปจนกระทั่งไม่เห็นสิ่งต่างๆ

การมาเห็นทีหลัง เสียหายกว่าการที่เห็นไปพร้อมกันอย่างไร

มันไม่เสียหายกว่า แต่ปัญหาคือกำลังบอกว่า สถานการณ์นั้นมันบดบังไปหมด และประเด็นที่ตามมา ก็คือฐานะมันเบากว่าอันแรก คนจะสนใจแค่ว่า ใช้ปืนอะไร ตายกี่คน มาจากไหน เหตุจูงใจคืออะไร สนใจแต่สิ่งเหล่านี้

สรุปชัดๆ ว่าการข้ามเส้นที่สำคัญนั้นมีเส้นอะไรบ้าง

การข้ามเส้นที่สำคัญมีหลายเรื่อง เรื่องจำนวนก็สำคัญ เรื่องเหยื่อบริสุทธิ์ที่ตกเป็นเป้าของคนยิง ดังนั้น ข้ามเส้นก็คือ ทหารถ้าถูกฝึกมาอย่างดีก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า กฎการปะทะ คือจะบอกว่า ใครเป็นภัยคุกคามก็จัดการ ใครไม่ใช่ก็ปล่อยไป ดังนั้น เวลาบุกเข้าไปในพื้นที่ของศัตรู ก็ต้องจำแนกให้ได้ว่าใครเป็นศัตรู ใครไม่เป็น เด็ก 2 ขวบ ไม่ใช่ศัตรู ก็ต้องไม่ยิง นี่จึงเป็นข้ามเส้นในมุมของทหาร ถ้าถือว่าคนก่อเหตุยังเป็นทหารอยู่เพราะเขาถูกฝึกมาในความหมายนั้น

แต่การข้ามเส้นที่สำคัญคือ เส้นของวันเกิดเหตุการณ์ คือวันมาฆะบูชา ซึ่งในหัวของคนยิงคงหายไปแล้ว และรู้สึกว่าในหัวของคนที่รับรู้ข่าวก็คงมีพลังยิ่งกว่าที่จะคิดเรื่องวันมาฆะบูชาในวันนั้นเสียแล้ว คือผลักพลังทางศาสนาออกไป

กรณีโคราช ถ้าหากว่าตรงนั้นเป็นเส้นสำคัญ ส่งผลอะไรตามมา

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เกิดในวันหยุด ภาษาอังกฤษเรียกวันหยุดว่า Holiday ซึ่ง Holy แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันหยุดเพราะมันเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ของเราในอดีตใช้วันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ และวันนั้นก็เป็นวันพระใหญ่ ดังนั้น ถ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ก็น่าจะมีผลในการพาเราไปในที่สงบ

พระพุทธองค์ทำอะไรบ้างในวันนั้น ทำดีละชั่ว แต่มันไม่ใช่สำหรับผู้ก่อเหตุ และสำหรับคนที่ติดตามเหตุการณ์ทั้งเมืองก็ถูกดูดเข้าไปในปรากฎการณ์นี้

อันนี้ก็คือความน่าสนใจที่มันข้ามเส้น แปลว่า ความศักดิ์สิทธิ์ในประเทศนี้ อาจจะหยุดความรุนแรงประเภทอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว

ผมไม่เคยบอกว่า ทำอย่างนี้แล้ว มีวันหยุด มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความเชื่อในอะไรบางอย่าง แล้วความขัดแย้งจะหายไป สำหรับผมแล้วความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ก็ทะเลาะกันไป สู้กันไป แต่ไม่ว่าจะสู้กันอย่างไรต้องมีขอบเขต จะรบกัน ยิงกัน ก็ทำไปในที่ต่างๆ แต่พอถึงประตูวัด ประตูสุเหร่า อย่าเข้าไป หยุด อย่าทำสิ่งเหล่านี้ในที่เหล่านั้น พวกนี้มันต้องมี

คนจำนวนหนึ่งมาพร้อมกับความเกลียดชังในตัวคนยิง ผมก็เข้าใจ ความรู้สึกนั้น แต่ว่าไปถึงขั้นบอกว่า ไม่ต้องให้เอาไปเผาที่วัดนี้อย่างที่เห็นในโซเชียล แล้วพอมีใครบางคนพยายามตั้งคำถามว่า เขาทำเพราะอะไร ก็กลายเป็นว่า ไม่ต้องมาพูดเลย มันทำผิดกฎหมาย มันทำสิ่งที่ทำมันเลวร้าย ต้องจัดการ ต้องให้ความยุติธรรม

คำถามคือ มันยุติธรรมเหรอ เขาฆ่าคนไป 29 คน แล้วเขาตายคนดียว ผมคิดว่าพอเป็น Mass killer ประเด็นเรื่องความยุติธรรมมันหายไปแล้ว ถ้าคุณเชื่อในหลักของความยุติธรรมว่าถ้าคุณเป็นฆาตกร แล้วถูกศาลตัดสินประหารชีวิต อย่างนี้ชีวิตต่อชีวิต แต่ถ้าผมฆ่าคนไป 29 คน ชีวิตผมก็ชำระไปแล้ว แล้วอีก 28 คน จะชำระกับใคร และคนที่บาดเจ็บอันนั้นเอากับใคร มันยุติธรรมเหรอ มันเลยเป็นคำถามเรื่องอื่นที่มากกว่าความยุติธรรม

เพราะไม่มีทางที่จะยุติธรรมเสมอเท่ากัน

มันไม่มีทาง มันทำไม่ได้ ในฐานะนักสังคมศาสตร์ และนักวิจัยสันติภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์สักเรื่องมันมีหลายวิธี แต่เนื่องจากมันเกิดขึ้นในวันศักดิ์สิทธิทางศาสนา เป็นวันที่คำสอนสำคัญของโลกมันถูกตราไว้ ดังนั้น ผมก็อยากจะใช้แนวความคิดที่เรียกว่าพุทธวิธี ในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ คือพุทธวิธีมีวิธีอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจ และหนักแน่นพอสมควร

พุทธวิธี คือการอธิบายเหตุของปัญหาที่เรียกว่า “ปฏิจสมุปบาท” มันเป็นความเป็นเหตุเป็นผลของหลายเหตุที่มาต่อเนื่องกัน การที่เหตุหนึ่ง ทำให้เกิดอีกเหตุหนึ่ง กรณีนี้ค่อนข้างจะชัดเจน ถ้าคิดจากความรุนแรง ก็เกิดขึ้นจากสมมุติมีคนไปยิงคนหนึ่ง ถามว่าแรงจูงใจคืออะไร ถ้าอธิบายว่าแรงจูงใจหรือเหตุที่เขายิงนายพัน เพราะมีการโกง ผมจะตอบว่า มันตอบไม่ค่อยได้ เพราะว่าเขาก็ถูกโกงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเราต้องดูในรายละเอียดว่า ระหว่างวันนั้นที่เขากลับไปเจอนายพัน เขาอาจจะพูดอะไรบางอย่าง คือต่อให้เตรียมจะไปฆ่าก็ไม่แน่ว่าจะฆ่า 

บางคนบอกว่านี่เป็นปัญหาทางจิตใจ แต่เราต้องอธิบายว่า มันเกิดอะไรขึ้นตอนนั้นที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์แบบนี้ ตอนนี้สิ่งที่สังคมไทยพยายามจะแก้ คือไปดูว่าในกองทัพมันเกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายกับลูกน้อง ในทางเศรษฐกิจ ในเรื่องการเงิน หรือการมีบ้าน เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญในทางโครงสร้าง และต้องแก้ทั้งหมด การมีหรือไม่มีอาวุธ การป้องกันค่ายทหาร การรักษาคลังอาวุธ

เพราะเรากำลังพูดถึงความโกรธบางอย่าง นี่คือการทำงานของความโกรธ สมมติแฟนทะเลาะกัน สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำคือ ขว้างแก้ว ทุบกระจก ขว้างของ คำถามคือ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนกัน ไปทำมันทำไม คำตอบคือ มันเป็นตัวแทนของการปลดปล่อยความโกรธที่มีอยู่ รวมทั้งมันอาจจะเป็นตัวแทนของการบอกว่า ผมทำอะไรไม่ได้กับระบบที่มีอยู่ ผมไม่รู้จะทำยังไง ผมก็เล่นงานคนนี้เพราะคนนี้กลายเป็นตัวแทนของระบบ เพราะตอนนี้ความโกรธครอบงำผมแล้ว คนที่ผมเห็นตอนนี้ไม่รู้เป็นอะไรแล้ว ก็เหมือนแก้วระหว่างทางที่แตกไปทีละใบด้วยกระสุนปืนของผม

สำหรับเขามันทำงานเหมือนกัน ณ เวลานั้น คือตอนนี้ผมยิงไปแล้ว ผมเตรียมอาวุธแล้ว สมมติผมเข้าไปตามหาภรรยาของนายพัน แต่คนที่เหลือก็กลายเป็นแก้วที่ขวางอยู่

ไม่อยากบอกว่า เป็นความบ้าคลั่ง ถ้าใช้พุทธวิธีมองก็คือ เขากำลังถูกครอบงำโดยอคติขนาดใหญ่ ซึ่งบดบังเรื่องอื่น ในกรณีนี้คงเป็นโทสาคติ คือความโกรธ จนมองอะไรไม่เห็น ไม่เห็นเด็กเล็กๆ 2 ขวบ ไม่เห็นผู้หญิงที่กำลังซื้อของ เห็นเป็นวัตถุสภาพบางอย่างที่เราจะทำให้แตกให้หมด เราไม่เห็นคนพวกนี้ที่เราถูกสอนมาชั่วชีวิตว่าเรามีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชีวิตของเขา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง