อาจารย์นิติฯ มธ.ชี้อนาคตใหม่กู้เงินไม่ผิด

การเมือง
24 ก.พ. 63
12:01
12,001
Logo Thai PBS
อาจารย์นิติฯ มธ.ชี้อนาคตใหม่กู้เงินไม่ผิด
36 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แย้งพรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลมหาชน แต่เป็นนิติบุคคลเอกชนที่สามารถกู้ยืมเงินได้

วันนี้ (24 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี โดยล่าสุด 36 คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออก แถลงการณ์กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ หลังเห็นพ้องร่วมกันว่าควรมีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่า อาจมีแนวทางในการใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่า

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่าย และตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้องเป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยให้สังคมผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผล และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อความศรัทธาที่สังคมและนักศึกษากฎหมายมีต่อสถาบันการศึกษากฎหมายและวิชาชีพกฎหมาย โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ว่า มาตรา 62 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง ดังนั้น หากพรรคการเมืองนำเงินส่วนใดที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะมิได้บัญญัติห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินไว้อย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าสามารถทำได้ ประกอบกับการที่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายมหาชน และการกู้ยืมเงินแม้มิได้เป็นรายได้ แต่ก็เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองจึงต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลโดยสรุปได้ต่อไปว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินโดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าถือเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งหากว่า มีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทต่อปีแล้วย่อมถือว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และเมื่อเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งขัดกับมาตรา 66 วรรคสอง

กรณีจึงถือว่าเป็นกรณีที่พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจในการยุบพรรคการอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ (“คณาจารย์นิติศาสตร์”) มีข้อสังเกตและความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวในประเด็นดังต่อไปนี้

1.พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ 

พรรคการเมืองที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนแล้ว มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงมีสิทธิและหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลตามมาตรา 65 และ 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่ามาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะบัญญัติให้พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไม่ได้ให้อำนาจในทางกฎหมายมหาชนแก่พรรคการเมืองทั้งหลายแต่อย่างใด

ในทางวิชาการ การพิจารณาว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน (นิติบุคคลมหาชน) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ 1.พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้น ว่าจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชน ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ 2.พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ว่า องค์กรนั้นใช้อำนาจมหาชนในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวหรือไม่ และ 3.พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่ โดยที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนได้นั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการ

เมื่อพิจารณาลักษณะพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตามองค์ประกอบสามประการข้างต้นจะพบว่า ประการแรก กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมือง สามารถใช้อำนาจมหาชนหรือใช้อำนาจรัฐในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กลับมีเนื้อหาเป็นการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพียงเท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ที่ควบคุมการดำเนินการของบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ไม่ได้ให้อำนาจมหาชนหรืออำนาจรัฐแก่บริษัทมหาชนแต่อย่างใด

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาถึงหลักการทั่วไปของการจัดตั้งพรรคการเมืองก็จะพบว่า พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนโดยตรง หากแต่ทำหน้าที่เพียงรวบรวมและก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าไปใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนต่อไปเท่านั้น

และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบที่สามพบว่า พรรคการเมืองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง หากแต่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่เสนอนโยบายและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น และเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว ผู้ได้รับการเลือกตั้งจึงจะมีโอกาสเข้าไปใช้อำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะอีกทอดหนึ่ง

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี หรือฝรั่งเศส พรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีสถานะเป็นเพียงนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุป คณาจารย์นิติศาสตร์ เห็นว่าการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการ ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคลมหาชน เนื่องจากขาดองค์ประกอบครบถ้วน

ทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่ บริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด ที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทย และสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลก

เมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้น จึงสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนแต่อย่างใด

การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคล ที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลนี้ย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง

คณาจารย์นิติศาสตร์ จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมือง พ.ศ.2560

อ่านข่าวเพิ่ม ด่วน! ยุบพรรค "อนาคตใหม่" ตัดสิทธิการเมือง กก.บห.10 ปีปมเงินกู้

2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา


ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยว่า การกู้เงินของพรรคการเมืองที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามธุรกิจทางการค้า จึงถือเป็นกรณีที่พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีจำนวนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ที่สิบล้านบาท ซึ่งต้องห้าม ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประเด็นจึงต้องพิเคราะห์ว่าการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการไม่คิดดอกเบี้ยนั้น เป็นกรณีที่ถือว่า "ผิดปกติทางการค้า" หรือไม่

คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 7 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในกรณีที่มีการตกลงคิดดอกเบี้ยในหนี้เงิน แต่ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้

นั่นหมายความว่า ถ้าคู่สัญญาตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 7.5 กฎหมายก็ไม่เข้าไปแทรกแซง และปล่อยให้เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญา มาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่อง "ปกติ" ด้วยเหตุนี้การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

อ่านข่าวเพิ่ม สนท.จัดแฟลชม็อบ หลังยุบพรรคอนาคตใหม่

3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้

ศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ได้เชื่อมโยงการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าสิบล้านบาท ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง เข้ากับมาตรา 72 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกคำสั่งยุบพรรค การเมืองเฉพาะกรณีมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เท่านั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตาม เนื่องจากมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้มาตรา 72 ได้กำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” จะเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของมาตรา 72 ดังกล่าว คือ การห้ามพรรคเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือถูกครอบงำจากกลุ่มหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

ส่วนความมุ่งหมายตามมาตรา 66 นั้น เป็นการกำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่าสิบล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวในการครอบงำการดำเนินการของพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่า มาตรการตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้กฎหมายทั้งสองมาตราจึงแยกออกจากกันได้

ดังนั้น การรับเงินบริจาคทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 66 จึงไม่อาจเป็นกรณีเดียวกับการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการกระทำตามมาตรา 66 ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 72 ได้หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้น มีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีเสรีภาพในการทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

อ่านข่าวเพิ่ม  อาฟเตอร์ช็อก "อนาคตใหม่" เสี่ยงผิด กม.อาญา หลังยุบพรรค


4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ

พรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ด้วยการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วยเลือกพรรคการเมืองนั้น ๆ เข้าไปเป็นผู้แทนของตนในรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปประเทศไปในแนวทางที่ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการ

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นผู้แทนในการจัดการผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ และในกรณีประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่ม ต่างๆ ไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกัน รัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตนผ่านหลักการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากโดยเคารพเสียงข้างน้อย

ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระ เสรีภาพ และการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมืองทั้งหลาย การยุบพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึง การทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนในสังคมการเมืองนั้นควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน โดยปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และมีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค

คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ กลไกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยโดยการยุบพรรคการเมืองนั้น จึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการในลักษณะที่ต้องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรคการเมือง หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น ทั้งนี้เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายย่อมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน การวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้งสองด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน

รายชื่อ 36 คณาจารย์ค้านยุบอนาคตใหม่ 

สำหรับคณาจารย์นิติศาสตร์ที่ร่วมออกแถลงการณ์จำนวน 36 มีรายชื่อดังนี้ั

  • รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
  • รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด
  • รศ. ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
  • ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี 
  • ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
  • รศ. ดร.ปกป้อง ศรีสนิท 
  • อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ 
  • อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
  • ผศ. ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย
  • รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
  • อาจารย์ ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน
  • อาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
  • อาจารย์กิตติภพ วังคำ
  • ผศ.สุรศักดิ์ บุญเรือง
  • อาจารย์มาติกา วินิจสร 
  • อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร
  • รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์
  • ศ. ดร.สุเมธ สิริคุณโชติ
  • รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ 
  • อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ
  • ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต
  • ผศ.ดร.ตามพงษ์ ชอบอิสระ
  • อาจารย์ ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังสี
  • ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง 
  • อาจารย์เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ 
  • ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร
  • อาจารย์กีระเกียรติ พระทัย
  • อาจารย์ฉัตรดนัย สมานพันธ์
  • อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน
  • ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร
  • ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
  • อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ
  • ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล
  • อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
  • อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์
  • อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดปมซักฟอก 6 รมต. "รัฐบาลประยุทธ์"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง