เปิดปม : คดีห้างดีดีมอลล์

เศรษฐกิจ
24 ก.พ. 63
13:31
2,041
Logo Thai PBS
เปิดปม : คดีห้างดีดีมอลล์
คดีทุจริตโครงการพัฒนาที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากสร้างความเสียหายให้กับประชาชนแล้ว ยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ คดีนี้ยืดเยื้อนานเกือบ 10 ปี และยังไม่มีทีท่าจะยุติ

อาคารสูง 9 ชั้น ปัจจุบันใช้ชื่อว่า บางซื่อจังชัน ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงเพชร 2 ใกล้กับตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพฯ ก่อสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 7 ไร่ 93 ตร.วา

 

ภายใต้การออกแบบก่อสร้าง เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการให้โครงการนี้เป็นศูนย์การค้าชั้นนำที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ศูนย์การค้าแห่งนี้กลับมีคดีความพัวพันยาวนานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะกรณีผู้ประกอบการกว่า 100 คน ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าพื้นที่ได้ตามสัญญา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,500 ล้านบาท

มหากาพย์ดีดีมอลล์

บริษัทดีดีมอลล์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2551 ในชื่อบริษัท เจเจเซ็นเตอร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท
มีการทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 1,700 ล้านบาท
ปี 2556 บริษัท เจเจเซ็นเตอร์ เปลี่ยนชื่อ เป็นบริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้งมอลล์ จำกัด ก่อนเปลี่ยนเป็น บริษัท อินสแควร์ จำกัด ในปีเดียวกัน
ปี 2557 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดีดีมอลล์ จำกัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศให้เช่าที่ดินตามโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อจัดหาประโยชน์โดยมีบริษัทเจเจเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ บริษัท ดีดีมอลล์ จำกัด ในปัจจุบัน เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดิน ในราคา 546 ล้านบาท

ในสัญญา ระบุว่า บริษัทต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารพลาซ่า 4 ชั้น และอาคารที่พักอาศัย 6 ชั้น มูลค่าโครงการประมาณ 546 ล้านบาท พื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 17,280 ตารางเมตร

มีข้อมูลว่า หลังจากเซ็นสัญญากับการรถไฟฯ ประมาณ 4 เดือน บริษัทฯ ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ระบุว่า เป็นอาคาร 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง ใช้เพื่อการพาณิชย์ หรือ ร้านค้าให้เช่าและจอดรถ พื้นที่ใช้สอย 73,591 ตารางเมตร

ต่อมา กรุงเทพมหานคร ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้บริษัท ปรับแบบก่อสร้างอาคารเป็น 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 84,676 ตารางเมตร มากกว่าพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่สัญญาที่ทำไว้กับการรถไฟฯ กว่า 6 หมื่นตารางเมตร

 

พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏในสัญญาที่บริษัททำกับการรถไฟ กับ อาคารในปัจจุบันซึ่งคาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท พบว่าต่างจากแบบแปลนเดิมอย่างสิ้นเชิง และ จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

เราสอบสวนที่โยธาแล้วยืนยันว่า เป็นการนำแปลนอาคารพาณิชย์ 8 ชั้นไปยื่นซึ่งตามสัญญาแล้วต้องให้ยื่นแบบตามท้ายสัญญาซึ่งไม่ใช่ 8 ชั้น อันนี้ทำหนังสือไปแล้วให้ดำเนินคดีข้อหาใช้เอกสารปลอม ถือว่ามีเจตนาทุจริตด้วย เพราะรู้แต่แรกแล้วว่า อาคารนี้ไม่ใช่อาคารตามท้ายแบบตามท้ายสัญญา

ความผิดปกตินี้ส่งผลให้ผู้เช่าช่วงโครงการศูนย์การค้าดีดีมอลล์นับร้อยคนที่ทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ค้าขายในศูนย์การค้าแห่งนี้รวมกว่า 200 ห้องมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิและเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ตามสัญญา กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมานานเกือบสิบปี

คดีห้างดีดีมอลล์

วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่งสำนวนการสอบสวนคดีทุจริตโครงการสัญญาเช่าศูนย์การค้าดีดีมอลล์ให้ ป.ป.ช. หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานจนพบความผิดปกติในสัญญาระหว่างการรถไฟฯ กับ บริษัท เจเจเซ็นเตอร์ จำกัด ในขณะนั้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย 6 คนอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากแบบแปลนการก่อสร้างไม่ตรงกับที่ปรากฏในสัญญา และมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้การอนุมัติโครงการนี้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ไม่ใช่อำนาจของการรถไฟฯ

ดังนั้น สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัทกับการรถไฟฯ ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2552 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ อาจมีผลให้สัญญาที่ถูกใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับธนาคารไม่มีผลผูกพันด้วยเช่นกัน

 

จากการตรวจสอบเรื่องนี้ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า บริษัทดีดีมอลล์ได้ขอเปลี่ยนขอปรับปรุงแบบแปลนของอาคารแต่การรถไฟฯ ยืนยันว่า ไม่เคยอนุญาตจนถึงปัจจุบัน

จากการตรวจสอบสรุปว่า มีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 ทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็นอดีตผู้ว่าการรถไฟฯ 2 คน อีก 4 คนเป็นอดีตผู้บริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ขณะนี้ ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณากล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องรวมถึงอดีตผู้บริหารการรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญาเช่า

ถือว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายกับการรถไฟฯ แทนที่จะได้ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ในการที่ได้ประโยชน์จากอาคารพาณิชย์ 8 ชั้น กลับไม่ได้รับตามนั้น อีกส่วนหนึ่งเกิดความเสียหายกับประชาชนเป็นการฉ้อโกงประชาชน นอกจากนั้นยังถือว่ามีเจตนาทุจริตด้วยรู้แต่แรกว่าอาคารนี้ไม่ใช่อาคารตามท้ายแบบตามท้ายสัญญา

ล่าสุด ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ส่งหนังสือชี้แจงมายังรายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ธนาคารฯ เป็นผู้ให้สินเชื่อแก่บริษัท ดีดีมอลล์ ในกรณีที่บริษัทเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อปลูกสร้างอาคารและเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์บริเวณย่านพหลโยธิน (แปลง 5 ) โดย ชี้แจงดังนี้

 

 

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารได้ดำเนินการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจ สน.ทองหล่อว่าขณะนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบเอกสารของบริษัท ดีดีมอลล์ จำกัด ว่ามีการใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมหรือไม่

และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ธนาคารมีหนังสือสอบถามข้อมูลของบริษัท ดีดีมอลล์ จำกัดไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ให้เช่าที่ดิน เพื่อปลูกสร้างอาคารและเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์บริเวณย่านพหลโยธิน (แปลง 5)

ทั้งนี้เพื่อธนาคารจะได้นำข้อมูลมาประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหากมีความคืบหน้าธนาคารจะแจ้งให้ทราบต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง