ชี้รัฐบาลทำ ศก.พัง-คนเครียดฆ่าตัว-บาทแข็งลงทุนถอย

การเมือง
24 ก.พ. 63
20:26
779
Logo Thai PBS
ชี้รัฐบาลทำ ศก.พัง-คนเครียดฆ่าตัว-บาทแข็งลงทุนถอย
“จุลพันธ์” ชี้รัฐบาลทำเศรษฐกิจพัง ถึงขั้นมีคนฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ค่าเงินบาทแข็งเมื่อต้นปี 62 แค่ 22 บาท ปลายปี 30 บาท กระทบลงทุน เฉพาะต้นปี 2563 มีโรงงานปิดตัวแล้ว 22 แห่ง

วันนี้ (24 ก.พ.2563) เวลา 18.47 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ 4 ว่า บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จนรวยกระจุกจนกระจาย หนทางเดียวที่จะออกจากปัญหาคือ เปลี่ยนนายกฯ

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยกตัวอย่างภาพข่าวหลายกรณี ที่ประชาชนฆ่าตัวตายโดยอ้างปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน ขณะที่กรมสุขภาพจิตระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุฆ่าตัวตาย 18.3 % ทุกวันนี้เห็นแบบวันต่อวัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นฆาตกรทางเศรษฐกิจ ทำลายความหวังคนหาเช้ากินค่ำ

การบริหารงานทางด้านเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทำให้ไทยไม่มีความหวังออกจากวังวนปัญหานี้ พร้อมตั้งคำถามว่า เชื่อมั่นนายกฯ หรือไม่ หรือฟังคำพูดแล้วอับอาย ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจพบว่า ไทยป่วยหนัก ปี 2562 ตัวเลข GDP เท่ากับ 2.4 %

ดัชนีผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 69 เดือน ไม่เชื่อว่ารายได้จะดีขึ้น นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในผู้นำทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเหมืองทองอัครา นอกจากนี้นโยบายประชารัฐ เป็นการหลอกตัวเอง หรือหลอกประชาชน เพราะโครงการใหญ่ขนการลงทุนไปต่างประเทศ

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ดุลการค้าไทยเกินดุลอย่างต่อเนื่อง การส่งออกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ค่าเงินบาทแข็ง ที่สำคัญการนำเข้าลดลง เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ไม่ซื้อเครื่องจักรใหม่ กำลังการผลิตไม่เต็ม 100 เชื่อว่าตัวเลขติดลบแน่นอน

การใช้จ่ายภาครัฐ งบฯ 3.2 ล้านล้านบาท สะดุดขาตัวเองจากปัญหากดบัตรแทนกัน สาเหตุที่ฝ่ายค้านไม่ได้ขัดขวาง หรือท้วงติง เพราะรู้ว่างบฯ แผ่นดิน เป็นขาเดียวที่ประคองเศรษฐกิจได้ จึงกลั้นใจให้ผ่าน

นายจุลพันธ์อภิปรายต่อว่า กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีปัญหา ทั้งที่ไทยควรมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5-6 % แต่ไทยกลับต่ำ 2 % เปรียบเทียบอาเซียนที่โต 5-6 % คาดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาทของ GDP ถามว่าเศรษฐกิจตกต่ำชั่วคราว ถาวร หรือลากยาว

อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก ไม่เกิดภาวะหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารการลงทุน แก้ปัญหาว่างงาน แต่สัญญาณอันตรายคือ อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย คนรวยเก็บออม คนจนไม่มีเงินใช้จ่าย โรงงานลดกำลังการผลิต การจ้างงานลดลง และคนตกงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณเงินในเศรษฐกิจไม่เพียงพอ

เดือน ม.ค.2563 มียอดขอปิดโรงงาน 22 โรงงาน เพิ่มขึ้น 50 % จากปีก่อน ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่รัฐประหารมาถึงขณะนี้เรียกว่าขาลง เปรียบเทียบสถานการณ์เป็น "กบต้ม" กว่าจะรู้ตัวก็สุก หากปล่อยบริหารต่อไปก็เป็นมะเร็งขั้น 4 รักษาไม่ทัน

ต่างประเทศจะใช้นโยบายการคลัง การเงิน การกำกับอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เศรษฐกิจมั่งคั่ง สิ่งที่รัฐบาลควรทำแต่ไม่ได้ทำคือ การใช้กลไกนโยบายการคลัง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพราะบริหารได้ประสิทธิภาพต่ำและทุจริตสูง เน้นเก็บภาษีกับประชาชน

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ภาครัฐพบรั่วไหลเยอะที่สุด เม็ดเงินหายไปนับแสนล้านบาท มีการซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบิน รถถัง ทำให้เงินไหลไปต่างประเทศ ในช่วงเศรษฐกิจขาลง รัฐบาลควรลดขนาดของภาครัฐ หรือข้าราชการประจำ และเพิ่มการลงทุนภาครัฐ

รัฐราชการ รัฐบาลใหญ่โต ประชาชนลีบเล็ก ปี 2558 งบฯ 2.575 ล้านล้านบาท มีงบฯ ประจำ 2 ล้านล้านบาท หากจริงจังไม่ให้ขยายใหญ่ขึ้น จะทำให้งบฯ ปี 2563 มีการลงทุน 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งการทำงบฯ ไม่ถึงมือประชาชน

รัฐบาลควรผ่อนเบาภาระด้านภาษีของประชาชน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จับจ่ายใช้สอยได้ทันที พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลจีนที่ลดภาษีปี 62 ครั้งใหญ่ ยอมลดงบฯ กลาโหม ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 บาทต่อคน

นายจุลพันธ์กล่าต่อว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ นโยบายภาษีผิดทิศทาง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมายภาษีและมรดก มีการจัดเก็บน้อยมาก เจ้าสัวในไทยเสียชีวิตหลายคน แต่กลับไม่เห็นเงินจากภาษีดังกล่าว

การปรับขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คนรวยมีที่ดินกลางเมือง 20 ไร่ นำไปปลูกมะนาวหลบเลี่ยงภาษี แต่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้, ภาษีธุรกิจออนไลน์ มีเป้าหมายให้ 200,000 ราย เข้าสู่ระบบ แต่ถามกลับว่าคนเหล่านี้ได้กำไรเท่าใด เป็นการรีดเลือดจากปูหรือไม่

ชิมช้อปใช้ที่ลดหย่อนภาษีถือว่าทำถูก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงเป้า เพราะคนรับประโยชน์เป็นฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 3 ล้านคน ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ได้มีนัยยะสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้นายจุลพันธ์ยังอภิปรายด้วยว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่กระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไม่เกิดแรงจูงใจให้ใช้จ่ายมากขึ้น ไม่เกิดธุรกิจใหม่ หรือการค้าขายใหม่ เพราะต้องซื้อข้าว หรือน้ำมันอยู่แล้วแม้ไม่มีบัตร อีกทั้งเอื้อประโยชน์นายทุน

ปี 62 ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในโลก ต้นปี 22 บาท สิ้นปี 30 บาท ไม่มีทิศทางกำกับดูแลแก้ปัญหา ทำให้การส่งออกถูกทำลาย โรงงานปิดตัว คนตกงานเพิ่มขึ้น เป็นกับดักสภาพคล่อง รัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนเป้าคุมอัตราเงินเฟ้อ เป็นอัตราแลกเปลี่ยน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง