“วิษณุ” โต้ สัญญาศูนย์ฯ สิริกิติ์ไม่ผิด แต่ปรับตามผังเมือง

การเมือง
24 ก.พ. 63
21:38
570
Logo Thai PBS
“วิษณุ” โต้ สัญญาศูนย์ฯ สิริกิติ์ไม่ผิด แต่ปรับตามผังเมือง
วิษณุชี้แจงกรณีสัญญาศูนย์ฯ สิริกิติ์ ระบุทำตามสัญญา แต่ต้องปรับตามสภาพความจริง ที่ผังเมืองเปลี่ยน ทำให้ NCC ทำตามสัญญาไม่ได้ ซึ่งไม่ใช้ความผิดของคู่สัญญา แต่รัฐต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (24 ก.พ.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ว่า เรื่อง ครม.ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ผมเข้าใจว่าผู้อภิปรายทำการบ้านมาดี แต่บังเอิญว่าใช้ข้อมูลเก่า เหมือนดูบุพเพสันนิวาส ภาค 1 แต่ตอนนี้ไปภาค 2 แล้ว ซึ่งท่านอาจไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ เป็นของกระทรวงการคลัง และเป็นที่ดินราชพัสดุ ผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไปตลอด แต่ยังคงชื่อ NCC ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกรมธนารักษ์มาโดยตลอด โดยมีข้อกำหนดว่า NCC ต้องบริหารศูนย์นี้ และต้องมีการก่อสร้างโรงแรม 4 ดาว 5 ดาว 400 ห้องขึ้น ไม่อย่างนั้นผิดสัญญา

NCC ต้องสร้างที่จอดรถ ต้องมีศูนย์การค้า ร้านค้า มิเช่นนั้นจะผิดสัญญา แล้วทุกคนก็รอ NCC จะสร้างเมื่อไหร่ แต่ปัญหาสัญญามาในช่วงสุดท้าย เขียนว่าอายุ 25 ปี ยังไม่เริ่มนับ 1 จนกว่า NCC จะสร้างเสร็จ แต่เสียค่าเช่าไม่ใช่อยู่เฉยๆ

อยู่มาวันหนึ่ง NCC มาร้องโอดครวญว่า ไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เนื่องจากรัฐออกกำหนดผังเมืองพื้นที่ตรงนั้นเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นที่ราชการ และกำหนดความสูงไม่เกิน 23 เมตร จึงทำให้ไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้

นายวิษณุกล่าวว่า กระทรวงการคลัง จึงเจตนาดีว่าเลิกสัญญาดีกว่า เพราะอยู่ไป NCC ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เมื่อปรึกษากฤษฎีกาแล้ว ได้คำตอบกลับมาว่า หาก NCC ผิดสัญญา ยกเลิกสัญญาได้ แต่ NCC ผิดสัญญาโดยไม่ใช่ความผิดของ NCC ดังนั้น จึงยกเลิกสัญญาไม่ได้ แต่แก้สัญญาได้ จึงมีการพิจารณาหลายปี

เรื่องนี้มีความพัวพันกับหลายหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งมี รมว.การคลัง เป็นประธาน เป็นกรรมการระดับชาติ เรื่องนี้นำเข้าคณะกรรมการที่ราชพัสดุตามกฎหมาย โดยคณะกรรมฯ มีมติ 28 มี.ค.2557 ซึ่ง 2 เดือนก่อนที่ คสช.จะมาต้องไปดูว่ารัฐบาลไหน

จากนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงในเรื่องเดียวกันว่า ปี 2556 เป็นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุน ให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ มีผลบังคับใช้ เม.ย.2556 กฎหมายนี้มีนัยยะสำคัญ ในการทบทวนโครงการที่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าว พูดง่ายๆ คือ ต้องการแก้ไขโครงการที่ขัดกฎหมายอยู่

มีการเปิดช่องไว้ มาตรา 43 เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการที่ดินหมอชิต รวมถึงโครงการศูนย์สิริกิติ์ ซึ่งต่อมา NCC ได้ส่งหนังสือถึงกรมธนารักษ์ ตามที่นายวิษณุได้กล่าวไปแล้ว กระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ และได้มีมติให้แก้ไขสัญญาได้

ตามเงื่อนไขที่กำหนดและมีการว่าจ้างสถาบันภายนอกศึกษาความเหมาะสมและคุ้มค่าของโครงการในปี 2556 ซึ่งเห็นความคุ้มทุน 47 ปี ระยะให้เช่าจึงเป็น 50 ปี ผลตอบแทน 1.8 หมื่นล้านบาท

ระยะให้เช่าแม้จะ 50 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าการลงทุน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดที่เอกชนลงทุน เมื่อครบสัญญา หรือบอกเลิกสัญญา ทรัพย์สินต้องตกเป็นของรัฐทั้งหมด หลังได้รับคำแนะนำจากอัยการสูงสุด จึงมีการปรับสัญญา นำไปสู่การเห็นชอบของ ครม. โดยกระทรวงการคลัง ได้นำข้อสังเกตไปดำเนินการสัญญาจริงๆ ได้ลงนามอีก 2 ปีต่อมา คือ 21 ธ.ค.2561

ข่าวที่เกี่ยวข้อง