แนะจับตาโครงการยักษ์ “รัฐเอื้อทุน” รถไฟฟ้า-หอชมเมือง

การเมือง
25 ก.พ. 63
12:43
456
Logo Thai PBS
แนะจับตาโครงการยักษ์ “รัฐเอื้อทุน” รถไฟฟ้า-หอชมเมือง
ส.ส.อนาคตใหม่ เปิดโปงโครงการยักษ์รัฐเอื้อทุน ตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีทอง ขนคนเข้าห้างดังย่านฝั่งธนฯ รถไฟฟ้าที่จ้างเดินรถแม้ไม่มีคนรัฐก็ต้องจ่ายค่าจ้าง หอชมเมืองมูลค่ามหาศาล

วันนี้ (25 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นอภิปรายนายกรัฐมนตรีในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายพิจารณ์อภิปรายว่า ขอยกประโยคที่ว่า “ใช้ระบบสังคมนิยมสำหรับผู้มั่งมี ใช้ระบบทุนนิยมสำหรับผู้ยากจน” ซึ่งนายกรัฐมนตรี กำลังบริหารประเทศด้วย 2 ระบบในประเทศเดียว นี่คือความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ขอเรียกสิ่งนี้ว่าระบอบนายทุนนิยม โดยการเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในไทย โดยอ้างจากบทความของ ม.ร.ว.ปรีดาธร เทวกุล ด้วยการแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดของนายทุนเข้าร่วมคณะทำงานในด้านต่างๆ ขณะที่สื่อต่างประเทศ มีการรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของนายกฯ กับเอกชนรายใหญ่ในธุรกิจต่างๆ

จับพิรุธรถไฟฟ้าขนคนเข้าห้างดังย่านฝั่งธนฯ

นายพิจารณ์กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งหลังตรวจสอบพบข้อพิรุธ ประเด็นแรกคือ สายสัมพันธ์และการเอื้อกลุ่มทุน หลังห้างขนาดใหญ่เปิดตัวและได้โชว์รูปแบบจำลองรถไฟฟ้าสายหนึ่งที่จะพาดผ่านหน้าห้าง แต่ประเด็นคือ กว่าจะมีมติให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ห่างกัน 2 ปี จากวันที่ห้างเปิดตัว เหตุใดเอกชนรายนี้จึงมั่นใจว่าโครงการของตนจะมีรถไฟฟ้าผ่านและเป็นระบบลอยฟ้า

รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบรอง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบหลักที่สถานีกรุงธนบุรี ดังนั้น รถไฟฟ้าสายสีทองที่เชื่อมต่อสถานีกรุงธนบุรี ต่อเนื่องไปสถานีเจริญนคร อยู่หน้าห้างดังกล่าว เลยไปถึงหน้าโรงพยาบาลตากสิน แต่รถไฟฟ้าสายนี้ เป็นรถไฟฟ้าสายตัน เพราะระบบหลักยังไม่มีการก่อสร้าง จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า รถไฟฟ้าสายนี้เกิดขึ้นเพื่อขนคนเข้าห้าง

อีกสายจ้างเดินรถ แม้ไม่มีคนแต่ต้องจ่ายค่าเช่า

นายพิจารณ์กล่าวต่อว่า ขณะที่ค่าโฆษณาบนรถไฟฟ้า ในพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ เปิดให้มีการประมูล แต่บนรถไฟฟ้าหรือบนสถานีกลับเป็นการล็อกสเป็กการโฆษณาไป 30 ปี นอกจากนี้ ความเสี่ยงในอนาคต หากมีรถไฟฟ้า ในอนาคต บริษัท กรุงเทพธนาคม ได้ว่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถ โดยใช้งบ 14,000 ล้านบาท แต่ด้วยสัญญาหมายถึง ไม่ว่าจะมีผู้โดยสารหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าโครงการจะขาดทุนอย่างไรก็ตาม กรุงเทพธนาคมจะต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถอยู่ดี ซึ่งถือว่ามิชอบ เพราะท่านสร้างเพื่อเอื้อนายทุน

อีกโครงการคือ หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ที่คลองสาน โดยโครงการเริ่มจากมูลนิธิหนึ่ง ซึ่งในคณะกรรมการฯ เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับห้างดังกล่าว แม้ที่ดินที่จะสร้างในขณะนั้นเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุดท้ายเอกชนรายนี้ก็ได้ไปจัดสร้างอาคารในพื้นที่ราชพัสดุใน จ.สมุทรปราการ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้คืนที่ให้กรมธนารักษ์ก็ได้จัดคืนพื้นที่ดังกล่าวให้โครงการนี้ได้สร้างต่อไป

สงสัยผุด “หอชมเมือง” บนที่ดินตาบอด

โครงการนี้มี 4 ประเด็น คือ ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินตาบอด จึงอยากถามนายกฯ ว่าทำไมเลือกหอชมเมืองฯ ไปอยู่ในพื้นที่ตาบอด มีทางเข้าออกไม่สะดวก

ประเด็นต่อมา คือ การคัดเลือกเอกชนโดยไม่มีการประมูล หลัง ครม.มีมติอนุมัติสร้างหอชมเมือง ว่าเป็นกิจการตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยงบ 4 พันกว่าล้าน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุน เมื่อมีการอนุมัติก็เข้าคณะกรรมการบอร์ด PPP ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน โดยมีมติอนุมัติ และได้ใช้ประกาศให้ยกเว้นการประมูลได้ เนื่องจากเป็นโครงการเร่งรัด ซึ่งโครงการอนุมัติมาแล้ว 2 ปี 8 เดือน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดบนที่ดิน

ให้เช่าที่ดินราคาถูก นานถึง 30 ปี

ประเด็นต่อมา คือ การให้เช่าราคาถูก มูลค่าค่าเช่าที่ได้รับตลอด 30 ปี อยู่ที่ 67,644,483 บาท เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ พบว่า มูลค่าที่ให้เช่ามากกว่า 30 ปี ต้องมีสัดส่วนผลประโยชน์ของรัฐ 60 % ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้รัฐสูญเสียเงินไป 51 ล้านบาท ตามราคากรมธนารักษ์ และ 262 ล้านบาท ตามราคาตลาด

เมื่อตรวจสอบพื้นที่ในการเข้าออกของพื้นที่หอชมเมือง พบว่า เส้นทางเข้าออกต้องผ่านห้างฯ ของกลุ่มทุนนี้เท่านั้น จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน เพราะหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย กลับต้องไปอยู่ในพื้นที่ตาบอด

ยืดหนี้ 7 ปี รัฐเสียรายได้กว่า 1.7 แสนล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยืดหนี้ให้เอกชนให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมด้วยภาษีประชาชน ด้วยกการใช้คำสั่ง มาตรา 44 โดยเอื้อให้ผู้ประกอบการหนึ่งใน 3 รายใหญ่นี้ ซึ่งมีเพดานในการกู้เงินเต็มจำนวนแล้ว และเพิ่มไม่ได้อีก การออกคำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการเอื้อให้เอกชนรายดังกล่าวไม่ต้องจ่ายหนี้ โดยให้ยืดหนี้ชั่วคราว ซึ่งการยืดหนี้ออกไป 6-7 ปี ตามวิจัยของ TDRI จะทำให้รัฐได้รับเงินน้อยลง ดังนั้น สิ่งที่ท่านเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ก็เท่ากับเงินที่รัฐสูญเสียไป สรุปโครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้รัฐเสียหาย 172,831 ล้านบาท

นายพิจารณ์กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่รัฐบาล “เลือกเธอตั้งแต่ยังไม่พบหน้า” เนื่องจากพบข้อพิรุธ 4 ประเด็น คือ การเจรจา ที่มั่นใจว่าโครงการจะต้องขาดทุนแต่ต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จ, รูปแบบการประมูล ทำให้เหลือผู้แข่งขันเพียง 2 ราย, การส่งมอบที่ดิน และรายละเอียดร่างสัญญาที่มีส่วนลดค่าปรับถึง 3 ล้านบาทถ้วน และมีการแจก แถมสิทธิประโยชน์เพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง