ไทยพัวพันผู้ต้องหาคดี 1MDB ได้อย่างไร

อาชญากรรม
25 ก.พ. 63
20:12
6,567
Logo Thai PBS
ไทยพัวพันผู้ต้องหาคดี 1MDB ได้อย่างไร
ในช่วง 1-2 วัน ไทยปรากฏชื่อพัวพันกับการซ่อนตัวของผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีกองทุน 1MDB แต่คำชี้แจงจากหน่วยงานไทยอาจทำให้เห็นว่ามีช่องว่างการแจ้งข้อมูล และท่าทีของไทยต่อเรื่องนี้สำคัญไม่น้อย อาจนำไปสู่ประเด็นใหม่ เช่น การฟอกเงิน หรือเกี่ยวพันกับคนไทยหรือไม่

วันนี้ (25 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 MDB คือกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของมาเลเซีย ถูกตั้งขึ้นมาในปี 2551 ในสมัยที่นายนาจิบ ราซัค เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น กองทุนนี้ใช้วิธีการกู้มาลงทุน โดยหวังว่าจะมีกำไรมาพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่ร่ำรวยในปี 2020 แต่การบริหารงานผิดพลาด การลงทุนในงานศิลปะ อัญมณีและเครื่องประดับ อสังหาริมทรัพย์และการเสี่ยงโชคต่างๆ การทำภาพยนตร์ แทบไม่เห็นผลตอบแทนการลงทุนเลยทั้งดอกเบี้ยที่หมุนต่อเนื่อง ทำให้ไม่กี่ปีกองทุนเกิดหนี้กว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ

 

 

ในปี 2558 หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เงินของรัฐบาลมาเลเซียกว่า 700 ล้านดอลลาร์ฯ ไหลเข้าไปยังบัญชีของนายกรัฐมนตรีนาจิบเสียเอง ขณะที่การลงทุนที่เชื่อมต่อไปในหลายประเทศ เกิดขึ้นท่ามกลางธุรกรรมมีความซับซ้อนอย่างมาก ทำให้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานในหลายประเทศพยายามสอบสวนเส้นทางการเงิน

 

 

แต่การจับกุมนายซาเวียร์ จัสโต้ ชาวสวิสเซอร์แลนด์ อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท ปิโตรซาอุดี ในไทย จากข้อหาแบล็คเมล์บริษัท ซึ่งมีสาขาในอังกฤษ และเกาะเคย์แมน และอีกหลายแห่ง ซึ่งแทบไม่เป็นที่สนใจในไทย กลับสร้างความตื่นเต้นให้มาเลเซียอย่างมาก

"ซาเวียร์" ขายข้อมูลการโยกย้ายเงินกองทุน

เพราะนายซาเวียร์ได้ขายข้อมูลการโยกย้ายเงินจาก 1MDB กว่า 24,000 ล้านบาท ไปยังองค์กรสื่อในอังกฤษและมาเลเซีย และเป็นเงินคนละก้อนกับที่โอนเข้าบัญชีของนายกฯ นาจิบ แต่เงินก้อนนี้ถูกถ่ายเทไปยังเกาะเคย์แมน ซึ่งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอะไรได้มากไปกว่านั้น แน่นอนว่าข้อมูลที่เขามีทำให้เห็นช่องโหว่ของกองทุน และสั่นสะเทือนชะตาของนาจิบ ราซัค แน่นอน

 

 

นอกจากซาเวียร์ จัสโต้ ยังมี โจ โลว์ นักการเงินชื่อดังสัญชาติมาเลเซีย ซึ่งระบุว่า เป็นคนวางแผนการลงทุนทั้งหมด และเป็นที่ต้องการตัวของสิงคโปร์ ถูกออกหมายแดงในปี 2559 ระหว่างนั้น ทราบว่าเขาเดินทางไปในหลายประเทศ หนึ่งในนั้น คือประเทศไทย และมีรายงานว่าเขามักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะในภาคใต้ของไทย โดยมีรายงานอ้างว่าเขาและคณะได้รับการดูแลจากนักธุรกิจชาวไทยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้กว้างขวาง

 

 

ระหว่างนั้น มาเลเซียก็แสดงความต้องการในตัวเขาเช่นกัน แต่การออกหมายจับ เป็นหมายแดง เกิดขึ้นในปี 2561 หลัง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสอบสวน เพื่อเอาผิดกับนายนาจิบ ราซัค ด้วย แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังเอาผิดกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ ไม่ได้

"ทอม ไรท์" อ้างไม่แปลกใจไทยไม่ส่งตัว โจ โลว์

ความเชื่อมโยงของตัวละคร 3 คนนี้ ถูกเขียนลงในหนังสือชื่อ บิลเลียน ดอลลาร์ เวล โดยหนึ่งในผู้เขียน คือทอม ไรท์ ทวิต ข้อความตอบโต้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ชี้แจงเรื่องนี้หลังพรรคอนาคตใหม่ออกมากล่าวหา เขาบอกว่าไม่แปลกใจเลยที่ทางการไทยไม่ส่งตัวโจ โลว์ ให้สิงคโปร์ ทั้งที่มีหมายแดงของตำรวจสากลออกมาแล้วในปี 2559 และปี 2561 โจ โลว์ ก็อยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในไทย ซึ่งอยู่ในช่วงที่ คสช.ดูแลประเทศ

 

 

เขายังทวิตข้อความ อ้างว่า โลว์ จ่ายเงินสินบนให้กับนักธุรกิจชาวไทยที่รู้จักกัน พ่อของโลว์เกิดที่ภาคใต้ของไทย ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในห้างในกรุงเทพฯ โดยพักอยู่ที่โรงแรม 1-2 แห่ง และอ้างว่า โจ โลว์ มีส่วนที่ทำให้เกิดการจับกุม ซาเวียร์

 

 

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าว อ้างว่าระหว่างที่โลว์เดินทางเข้ามาพักในไทย เขาไม่ได้มาพร้อมกับทีมกฎหมาย 2 คน แต่ยังมีบุคคลในคณะที่รวมแล้วประมาณ 7-9 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแล อำนวยความสะดวกจากนักธุรกิจไทยคนนี้ ซึ่งมีธุรกิจหลายอย่าง และมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคนมีสีบางกลุ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง