วิษณุ ชี้แจง รัฐบาลยังพอมีช่องทางรอดคดี “ฟิลลิปมอร์ริส”

การเมือง
27 ก.พ. 63
18:36
889
Logo Thai PBS
วิษณุ ชี้แจง รัฐบาลยังพอมีช่องทางรอดคดี “ฟิลลิปมอร์ริส”
นายวิษณุ เครืองาม ชี้มีช่องทางรอดคดี “ฟิลลิปมอร์ริส” แต่ยันการแก้กฎหมายกรมศุลกากรเกิดจากแนวคิดหลายรัฐบาล พร้อมแสดงจุดยืนรัฐบาล คสช. ไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ยกเหตุการณ์นำถุงขนมวางที่ศาลอาญาเป็นการแทรกแซง และแจงไม่ได้ยกที่ดินยาสูบให้เจ้าสัว

วันนี้ (27 ก.พ.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีแทรกแซงคดีฟิลลิปมอร์ริส ยืนยันว่า ไม่ได้แก้กฏหมายเพื่อช่วยบริษัทบุหรี่นอกดังกล่าว เนื่องจากแนวคิดการแก้ไขกฏหมายนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็มายุบสภา จากนั้นในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็มาเกิดเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยในประเทศขึ้นอีก กระทั่ง คสช.เข้ามา 22 พ.ค. 2557 จึงตั้งใจสังคยานากฏหมายตัวนี้ เพราะใช้มาเป็นเวลานาน 90 ปี เมื่อผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กฏหมายนี้ก็ประกาศใช้เดือนพ.ค.2560 แต่ก็ทอดเวลาเตรียมการให้อีก 180 วัน แสดงว่าเอาเข้าจริงมีผลบังคับใช้กฏหมายในเดือน พ.ย. 2560 แต่คดีนี้ฟ้องตั้งแต่ ม.ค. 2559 

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการแก้ พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งความจริงตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลัง ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการแก้กฎหมายดังกล่าว แต่เขาเตรียมแก้กันมาตั้งแต่ปี 2554 และกฎหมายนี้ผ่านการแก้ในสภามาแล้ว 22 ครั้ง มันแก้ไขจนพรุนไปหมดแล้ว ในที่สุดก็ได้เข้าสภาไปแล้วครั้งหนึ่งสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์สมัยปี 2555 สภาพัฒน์บอกว่าช่วยไปดูหน่อย เขาเตรียมจะแก้ของเขาอยู่แล้ว ทั้งนี้มีความจำเป็นต้องกราบเรียนว่าเรื่องเหล่านี้ผมไม่ได้ไปแทรกแซงหรือก้าวก่าย แต่พฤติกรรมแบบนี้คือการบริหารราชการแผ่นดิน การแทรกแซงก้าวก่ายหมายถึงตามที่เขาห้ามตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเรื่องแบบนี้ถือเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายก็ต้องถือว่าเป็นการแทรกแซงโดยชอบ จำคดีถุงขนมได้หรือไม่ เอาเงินไปจ่ายให้ ไม่รู้ให้ใคร แต่ในที่สุดก็ทิ้งถุงไว้เป็นถุงขนมจนศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิด แบบนี้ถึงจะเรียกว่าก้าวก่ายวิ่งเต้นกับประธานศาลรัฐธรรมนูญในสมัยหนึ่ง แต่ท่านประธานศาลไม่เล่นด้วย ก็ถูกขู่เข็ญ ขอนัดพบ แบบนี้ถือว่าแทรกแซงก้าวก่าย

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่กล่าวหาว่าจะยกที่ดินโรงงานยาสูบให้เจ้าสัวนั้น ตนเชื่อว่าผู้อภิปรายไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่รู้ก็เลยพูดแบบนั้น ขอชี้แจงว่าที่ดินดังกล่าวแบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วยที่ดิน 4 โซนคือ โซน A ศูนย์สิริกิติ์ 53 ไร่ โซน B ข้างหลังศูนย์ โรงพยาบาล 77 ไร่ โซน c สวนน้ำริมรัชดา 130 ไร่ และโซนสุดท้ายโซน D โรงงานหลังสวนน้ำ จำนวน 320 ไร่ โดยที่ดินแปลง D และที่ดินแปลง C รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน น้อมเกล้าให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แต่ก็ไม่ได้บอกว่าถวายไปทำอะไร แต่เป็นอันว่าถวาย หลังจากนั้นก็เป็นรัฐบาลชวน 1 ที่เกรงว่าหากถวายแล้วจะมีใครเล่นแร่แปรธาตุ จึงมีมติให้โซน C ที่ติดกับถนนรัชดา จำนวน 130 ไร่ ให้สร้างเป็นสวนน้ำ ตกลงโซน C เป็นสวนน้ำ ใครจะยกให้เจ้าสัวแม้แต่เสี้ยวเดียวก็ไม่ได้ ส่วนโซน D รัฐบาลต่อมาก็ให้ทำเป็นสวนป่าคือปลูกต้นไม้ให้เต็มไปหมด ฉะนั้น ใครจะนำที่ดินโซน D ไปยกให้ใครแม้แต่วาเดียวก็ไม่ได้ แต่โซนดีมีโรงงานยาสูบตั้งอยู่หลายโรงงานจึงไม่สามารถทำสวนป่าได้ทันที อย่างไรก็ตาม โซน C ได้มีการขอพระราชทานชื่อ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอันว่าได้ชื่อเป็นทางการสำหรับโซน c และโซน D คือสวนเบญจกิติ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต่อจากนั้นโรงงานยาสูบก็ต้องหาที่ตั้งใหม่ ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา บอกให้โรงงานย้ายไปอยู่เชียงใหม่และฉะเชิงเทรา รัฐบาลนายชวลิต ยงใจยุทธ บอกว่าอย่าไปเลยให้ย้ายไปเชียงใหม่และสระบุรี พอมาถึงรัฐบาลนายสุรยุทธ์ จุลานนท์ เห็นว่าเชียงใหม่ไกล ส่วนสระบุรีก็ไม่สะดวก ขอให้ย้ายไปหาในรัศมี 200 กิโลเมตร แต่ไม่บอกว่าที่ไหน พอมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ปฏิบัติตามมติครม.ของรัฐบาลนายสุรยุทธ์ ให้ย้ายไปอยุธยาที่นิคมโรจนะ และรัฐบาลไม่ได้สั่งให้ไป เขาไปสำรวจกันเองและย้ายกันเอง แต่วันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว

หลังจากนั้นโรงงานยาสูบก็ทยอยย้ายไปที่นิคมโรจนะ รัฐบาลนายกประยุทธ์ปีที่แล้วไปตรวจเยี่ยม ก็เพิ่งรู้ว่าขนย้ายเหลืออยู่อีกนิดเดียวจึงได้ขอให้ช่วยขยับขยายไปให้หมด โดยเร่งรัดภายในพฤษภาคม 63 เพื่อจะได้น้อมเกล้าถวายในเดือนสิงหาคม 64 ดังนั้น ประโยคที่ผู้อภิปรายพาดพิงจึงไม่สวยงามเลยที่บอกว่าไปสร้างสวนเพื่อเอื้อต่อศูนย์สิริกิติ์เป็นสวนน้ำและเป็นสวนป่า เพราะทั้งหมดกำหนดโดยสำนักพระราชวัง และไม่สวยงามเลยที่บอกว่าที่ดินข้างสวนให้เป็นที่ดินเจ้าสัว แต่เชื่อว่านายศรัณเกตุไม่ทราบและไม่ได้ตั้งใจ และควรไม่มีใครไปถือสาหาความกับส่วนนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าเราจะช่วยฟิลลิป มอร์ริส คงไม่ออกมาแบบนี้ เหมือนกับว่าถ้าเราจะแทรกแซงองค์กรกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับรัฐบาลในอดีต มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เราเห็นว่าเราต้องการปกป้องสุขภาพคนไทย บุหรี่ไทย กฎหมายไทย โดยเฉพาะกฎหมายศุลกากรและความรู้สึกของคนไทยว่าต้องรักษาเกียรติภูมิของคนไทย จึงออกมาในลักษณะนี้ต่างหาก ส่วนจะแพ้คดีที่สุดหรือไม่อย่างไร ยังมีเวลา ตนเชื่อในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าจะมีช่องทางที่จะเจรจา เรามีวิธีและช่องทางอีกหลายอย่าง ถ้าพูดมากไปในสภาแห่งนี้จนได้ยินไปทั่วโลกจะเป็นปัญหาและกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในฐานะอาเซียนยังมีช่องทางที่จะเจรจาเรื่องบุหรี่

ทีแรกตั้งใจว่าไม่จำเป็นต้องพูด แต่ขอกราบเรียนว่าเรื่องบุหรี่ตั้งแต่เราไปเป็นสมาชิก AFTA ตั้งแต่เราเข้าAEC เราต้องปฏิบัติตามพันธอาเซียน 10 ประเทศ รัฐบาลเริ่มตั้งแต่ 2550 จนถึงปัจจุบันออกพระราชกำหนดและออกประกาศกระทรวงการคลัง หลายคนอาจจะยังไม่ทราบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 53 เป็นต้นไป ด้วยข้อตกลงการที่บุหรี่จากประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนด้วยกัน เข้าไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนให้บุหรี่ไม่ว่าจะพันธุ์อะไรก็ตาม ภาษีเป็นศูนย์ เมื่อภาษีเป็นศูนย์ก็ไม่เกิด Philip Morris อีกต่อไป เขาไม่ต้องสำแดง

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นายศรัณย์วุฒิ ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำลายบุหรี่ไทย ทำให้บุหรี่ไทยเจ๊ง และบุหรี่ต่างประเทศยึดตลาดในไทยนั้น ท่านอาจจะหมายถึงแก้ไขกฏหมายภาษีสรรพสามิตที่อาจเป็นต้นตอกฏหมาย โดยกฎหมายภาษีสรรพสามิตได้ลงมือตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งรัฐบาลใดไม่ทราบ และมาสำเร็จในปี 60 พ.ร.บ.สรรพสามิตก็ไม่ได้ทำให้เสียประโยชน์อะไร เพราะกรมสรรพสามิตได้รายงานว่าผลของการออกกฎหมายฉบับใหม่แม้จะเก็บภาษีบางตัวได้น้อย แต่เก็บภาษีบางตัวได้มากพอถัวเฉลี่ยกันแล้วเราสามารถที่จะมีรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมากกว่าสมัยที่ใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับเดิมเป็นอันมาก ส่วนปัญหาโรงงานยาสูบต้องแก้ด้วยวิธีการหลายอย่างโดยเฉพาะวิธีการบริหารจัดการ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กฎหมายภาษีสรรพสามิตได้กำหนดสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีมาในฉบับเก่า นั่นคือ บุหรี่ทุกชนิดทั้งในและนอกจะต้องเสียภาษี ซึ่งเราเรียกกันว่าภาษีเพื่อมหาดไทย 10 เปอร์เซ็นต์เดิมไม่เคยเก็บ และเข้ากองทุนผู้สูงอายุ อีก 2% ของราคา ซึ่งเราไม่เคยเก็บ พอเกิดกองทุนผู้สูงอายุและภาษีเพื่อมหาดไทยก็กระทบกันหมด บุหรี่นอกก็กระทบ บุหรี่ในก็กระทบ เมื่อกฎหมายสรรพสามิตออกมาก็ได้มีการออกกฎกระทรวงมาฉบับหนึ่ง ความต้องคือต้องการช่วยบุหรี่ในประเทศ เดิมบุหรี่นอกเสียภาษีแบบหนึ่ง บุหรี่ในประเทศเสียภาษีอีกแบบหนึ่ง ทำให้WTOประท้วง เราจึงต้องทำให้เสียภาษีแบบเดียวกัน

แต่เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้บุหรี่ในประเทศได้ประโยชน์ ซึ่งในเวลานั้นก็ได้ออกกฎกระทรวงเมื่อปี 60 ว่า ถ้าราคาต่อซองต่ำกว่า 60 บาทให้เก็บภาษี 20% แต่ถ้าขายเกิน 60 บาทจะเก็บภาษี 40% พอกฏกระทรวงออกมา บุหรี่ไทยกับบุหรี่นอกสวนทางกัน โดยบุหรี่ไทยขึ้นเป็น 90-95 บาทจึงเจอภาษี 40% ส่วนบุหรี่นอกก่อนหน้านี้ขายเกิน 60บาท ก็ลดต่ำกว่า60บาท ทำให้เขาเสียภาษีเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ และทุกซองเข้ากองทุนผู้สูงอายุและภาษีเพื่อมหาดไทยเหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้บุหรี่ไทยเกิดปัญหายืนยันอีกครั้งเราไม่เคยไปก้าวก่ายแทรกแซงทุจริตหรือวิ่งเต้นหรือใช้ความกดดันอะไรใครทั้งหมด ส่วนเรื่อง WTO ขอให้วางใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยความสงบด้วยความราบรื่นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง