คดีพิพาททางด่วนยื่นถอนฟ้องแล้ว 17 คดี

เศรษฐกิจ
28 ก.พ. 63
13:39
1,198
Logo Thai PBS
คดีพิพาททางด่วนยื่นถอนฟ้องแล้ว 17 คดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุข้อพิพาททางด่วนระหว่าง BEM และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยื่นถอนฟ้องครบ 17 คดีแล้ว พร้อมเตรียมเดินหน้าสัญญาสัมปทานใหม่ วันที่ 1 มี.ค.นี้

วันนี้ (28 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าในการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายลงนามขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 2 ฉบับ เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2578

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยื่นถอนฟ้องคดีข้อพิพาทครบ 17 คดี ถือเป็นการสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องระหว่างครบถ้วน โดยไม่ต้องคำวินิจฉัยของศาล โดยสัญญาสัมปทานใหม่จะเริ่มสัญญาใหม่นับ 1 ได้ตั้งวันที่ 1 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป

โดยขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการกรณีการบันทึกบัญชี โดยให้ กทพ.จัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และหากผลการดำเนินงานจากวิธีการทางบัญชีส่งผลกระทบต่อการประเมินผลการดำเนินงานของ กทพ. ให้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

มั่นใจถอนฟ้องเสร็จทันต่อสัญญาฉบับใหม่

รายงานข่าวจาก กทพ.ระบุว่า ขณะนี้ยังมั่นใจว่าขั้นตอนของการถอนฟ้องคดีข้อพิพาทของทั้ง 2 ฝ่ายจะแล้วเสร็จทันต่อสัญญาฉบับใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่หากเกิดกรณีถอนฟ้องไม่ทัน และทำให้สัญญาไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ ก็จะเจรจากับ BEM โดยอาจใช้วิธีอื่น เช่น ให้ BEM บริหารโครงการไปก่อน แต่จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ จนกว่าสัญญาจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

สหภาพฯ กทพ.ยื่นถอนคำฟ้องคดีทางด่วน

ขณะที่รายงานข่าวจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะตุลาการศาลปกครองคดี ขอให้องค์คณะตุลาการศาลพิจารณาคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และปกป้องสิทธิของประชาชนต่อการถอนคำฟ้องคดีสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D

เนื่องจากเห็นว่ามติ ครม.ดังกล่าวอาจเป็นมติที่วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยหรือพิพากษา ที่ยังมิได้มีกฎหมายใดรองรับ เพราะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับในหลักการกับหน่วยงานของรัฐทั่วไป ย่อมมีผลผูกพันบรรทัดฐานการบริหารจัดการสัมปทานประเภทอื่นๆ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน เป็นการเปิดช่องทางให้เอกชน ยื่นข้อเรียกร้องระหว่างการบริหารสัญญามาเป็นสิทธิผูกขาด โดยการแปลงความเสี่ยงเป็นหนี้ ที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจตุลาการจากศาลเพื่อความยุติธรรมอีกต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง