คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมรับมือ COVID-19

สังคม
2 มี.ค. 63
20:00
6,727
Logo Thai PBS
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมรับมือ COVID-19
ขณะนี้ประชาชนในแต่ละจังหวัด คงมีคำถามว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ COVID-19 เป็น โรคติดต่ออันตราย แต่ละจังหวัด ใครจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดนี้

วันนี้ (2 มี.ค.2563) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อซักซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม COVID-19 หลังยกระดับเป็น โรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โดยมี 6 แนวทางสำคัญ คือ 1.ให้มีการเฝ้าระวังและป้องกันโรคตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ,2.การวินิจฉัยและดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ต้องทำตามคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนด ,3.เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น 18 รายการ เช่น ชุดป้องกัน, 4.กรณีประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงให้ทำตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค,5.เน้นมาตรการสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงในทุกช่องทาง และสุดท้าย 6.การยกระดับปฏิบัติการและเตรียมความพร้อมโดยใช้ กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

 

 

ทั้งนี้ นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ผู้บริหารโรงพยาบาลตรัง ยอมรับว่ามีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งขณะนี้ในโรงพยาบาลตรังมีผู้ป่วยด้วยโรคอื่นอยู่แล้วกว่าร้อยละ 98-99 ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อมีข้อจำกัดในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษา เช่น ห้องความดันลบมีน้อย หากเกิดกรณีฉุกเฉินรองรับได้ไม่เพียงพอจึงต้องทำงานเชิงรุกทำให้การระบาดชะลอตัวได้มากที่สุด โดยเฉพาะหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด อาจต้องพิจารณาปิดโรงพยาบาล

นี่ถือเป็นการส่งสัญญาณในการรับมือ COVID-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ เพราะตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เน้นการเฝ้าระวังไปที่ 8 จังหวัดเสี่ยงที่มีคนจีนเดินทางเข้ามา แต่ระยะหลัง พบว่า มีคนไทยเดินทางไปติดเชื้อจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงอย่างญี่ปุ่น จึงต้องปรับแผนตามคำประกาศฉบับใหม่ ที่จะใช้ "คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด" เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด"

 

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด" มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เข้ามาเป็นกรรมการ ตั้งแต่ 14-18 คน โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะจัดทำแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุ COVID-19 ในจังหวัด โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติในแต่ละจังหวัด

 

ทั้งมีมีการมองว่าสามารถเปรียบกับกรณีฮอกไกโด ซึ่งผู้ว่าการมีประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ซึ่งการจะมีการประกาศเขตภัยพิบัติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 หรือไม่ เรื่องนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ยังไม่มีแนวคิดจะประกาศเขตภัยพิบัติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง