รพ.จุฬาฯ งดบริการตรวจสุขภาพคนไทย-ต่างชาติ รับมือ COVID-19

สังคม
3 มี.ค. 63
11:23
1,738
Logo Thai PBS
รพ.จุฬาฯ งดบริการตรวจสุขภาพคนไทย-ต่างชาติ รับมือ COVID-19
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศงดให้บริการคลินิกตรวจสุขภาพคนไทยและต่างชาติที่อาคาร ภปร ชั้น 16 ส่วนคลินิกอื่นๆ ยังให้บริการปกติ พร้อมงดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่มีการชุมนุม เพื่อลดความคับคั่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ป้องกันไวรัส COVID-19

วันนี้ (3 มี.ค.2563) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เรื่อง การให้บริการผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ตามที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ของไทยนั้น ในการนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และลดความคับคั่งของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. งดบริการตรวจสุขภาพคนไทย ณ คลินิกตรวจสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16 แต่ยังคงให้บริการคลินิกอื่นๆ ตามปกติ
  2. งดบริการตรวจสุขภพของคนต่งชาติณ คลินิกตรวสุขภาพ อาคาร ภปร ชั้น 16
  3. งดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่มีการชุมนุม หรือมีคนแออัดและคับคั่ง

สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือมีประวัติเดินทางมาจากประเทศ (หรือแวะผ่านประเทศ) เกาหลีใต้ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อิตาลี อิหร่าน เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อ COVID-19 ภายใน 14 วัน ให้ติดต่อจุดแยกผู้ป่วยตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ ชั้น 1 ทันที

 

ขอความร่วมมือบุคลากรใช้หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อ 1 วัน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังได้ประกาศเรื่อง การใช้หน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล

1.ข้อบ่งชี้ หน้ากากชนิด N95 หรือสูงกว่า ร่วมกับ หน้ากากป้องกันบริเวณใบหน้า/ดวงตา (Face shield, goggle) 

บุคลากรที่ปฏิบัติงานในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อ (aeroso-generating
procedure) ได้แก่ การช่วยฟื้นคืนชีพ การใส่ถอดท่อช่วยหายใจ การดูดเสมหะ การพ่นยา การเก็บสิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ หรือไอมาก ระยะเวลาในการใส่สามารถถอดเข้าออกได้อย่างน้อย 5 ครั้ง โดยไม่จำกัดระยะเวลาการใส่ หรือพิจารณาตามความเหมาะสม (https://www.cdc.gov/niosh/topics/hcwcontrols/recommendedguidanceextuse.html)

2. ข้อบ่งชี้หน้ากากอนามัย Surgical Mask

1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่แผนกฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วยใน รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งผู้ป่วย และพนักงานทำความสะอาดที่ปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าว
2. บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่ EID clinic และ EID ward (จก2 และ จก4) กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ต้องใส่หน้ากาก N95
3. บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจที่จุดบริการอื่นๆ
4. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิติการที่มีโอกาสสัมผัสเลือดและสิ่งคัดหลั่ง
5. บุคลากรที่มีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือ จาม
6. บุคลากรที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด หรือ ยากดภูมิต้านทาน หรือ บุคลากรที่มีโรคทางเดินหายใจ
7. บุคลากรที่อยู่ในระยะเฝ้าระวังว่าจะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 เช่นกลับจากประเทศที่มีการระบาด หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่ได้ป้องกัน

ระยะเวลาในการใส่ : 1 ชิ้นต่อคนต่อวัน (หรือต่อเวร) ยกเว้นปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากตนเองหรือผู้ป่วยไห้เปลี่ยนได้ก่อน

ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


หมายเหตุ สำหรับบุคลากรฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ และบุคลากรที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องใช้หน้ากาก N95/Surgical Mask ที่กำหนดไว้ในข้อ 1-7 สามารถใช้หน้ากากผ้า เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้าโดยไม่จำเป็น และแนะนำให้ซักทำความสะอาดทุกวัน ทั้งนี้ บุคลากรต้องล้างมืออย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับหน้ากากอนามัยและบริเวณใบหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง