หมอแจงผู้ป่วย COVID-19 หายแล้ว ส่วนใหญ่ปอดยังทำงานได้ปกติ

สังคม
4 มี.ค. 63
14:03
16,485
Logo Thai PBS
หมอแจงผู้ป่วย COVID-19 หายแล้ว ส่วนใหญ่ปอดยังทำงานได้ปกติ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 90 หรือประมาณ 80,000 คน ทั่วโลก ไม่ส่งผลกระทบกับปอด ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือร้อยละ 10 อาจมีสภาพของโรคที่เกิดกับร่างกายหลงเหลืออยู่แต่ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ

วันนี้ (4 มี.ค.2563) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาการป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่มีการส่งต่อข้อมูลกันในสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะทำให้เกิดแผลเป็นที่ปอดของผู้ป่วยและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตว่า ต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคก่อน จากข้อมูลขณะนี้พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสทั่วโลกอยู่ประมาณ 90,000 คน โดยน้อยกว่าร้อยละ 10% หรือกว่า 8,000 คน มีอาการหนัก หรือมีปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีร้อยละ 2-3 ที่เสียชีวิต

โดยปกติไวรัส COVID-19 จะเข้าสู่ร่างกายทางเดินหายใจส่วนบน มีอาการคล้ายไข้หวัด โดยมีอาการมีไข้ ไอ อ่อนเพลีย รวมถึงมีระบบแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งไม่มากนัก สำหรับคนไข้อื่นๆ หากเข้ารักษาตัวโดยเร็วจะมีอาการไม่รุนแรง หากดูแลตัวเองดีๆ พักผ่อนเพียงพอแล้วเมื่อหายดี เชื้อจะไม่เข้าไปที่ปอด

คนไข้ 90,000 คน มี 80,000 คน หรือร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง อาการไข้ อ่อนเพลีย คล้ายไข้หวัด ดังนั้น เชื้อยังอยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ใช่ที่ปอด จึงไม่ได้มีผลอะไรกับปอดเลย


ส่วนอีกร้อยละ 10 หรือประมาณ 8,000 คน ที่มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบเฉียบพลันอย่างรุนแรง ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด เกิดภาวะภาวะการหายใจล้มเหลว (ARDS) หรือภาวะอื่นๆ ปอดจะต้องถูกทำลายอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพยาธิสภาพ (สภาพของโรคที่เกิดกับร่างกาย) ของปอดจะฟื้นกลับคืนมาได้ หากได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลในส่วนนี้

ส่วนลักษณะของปอดที่ถูกทำลายมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกทำลายอย่างหนัก เฉพาะผู้ป่วยอาการหนักมากๆ เพราะพยาธิสภาพของปอดจะมีการทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก ซึ่งไม่ใช่เพียง COVID-19 เท่านั้น แต่โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนก็เกิดการทำลายปอดได้เช่นกัน

การเกิดพยาธิสภาพในปอด จะเกิดในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก หากไม่สบายแล้วไปพบแพทย์เร็ว ก็จะช่วยรักษาได้ทันท่วงที


ทั้งนี้ หากแพทย์ได้เข้าดูแลรักษาตั้งแต่ต้น โดยแพทย์จะมีการให้ออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ ประกอบกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งช่วยให้ปอดทำงานน้อยลง ดังนั้นกลไกที่จะเข้าไปทำลายเนื้อปอดก็จะน้อยลงไปด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องการเน้นย้ำ คือเมื่อไม่สบายต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล 

ไม่กระทบการทำงานของปอด

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักที่รักษาหาย หากถามว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการใช้ชีวิต ยกตัวอย่าง ไม่ต้องเป็นผู้ป่วย COVID-19 แม้แต่โรคอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อที่ปอดระยะที่รุนแรง แม้จะรักษาหายแต่พยาธิสภาพจะหลงเหลืออยู่ที่ปอด แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อปอดส่วนใหญ่ยังคงทำงาน และทำหน้าที่ได้ปกติ

ส่วนในผู้ป่วยที่ปอดถูกทำลายมากๆ หรือรุนแรงมากๆ ในส่วนนี้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยส่วนน้อย หรือก็คือ ร้อยละ 2 ที่เสียชีวิต เนื่องจากเมื่อปอดถูกทำลาย อวัยวะหลายอย่างในร่างกายก็ถูกทำลายด้วย ซึ่งในอนาคต คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะลดน้อยลงกว่านี้ จากมาตรการเชิงรุกของแต่ละประเทศที่เริ่มค้นหาผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ต้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง