ไทยพบเพิ่ม 1 คน ชาวอังกฤษป่วย COVID-19

สังคม
6 มี.ค. 63
15:45
2,457
Logo Thai PBS
ไทยพบเพิ่ม 1 คน ชาวอังกฤษป่วย COVID-19
สธ.เผยไทยพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 1 คน เป็นชาวอังกฤษที่แวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง พร้อมเตือนแรงงานจากเกาหลีใต้ที่กลับไทย หากไม่กักตัวในที่พัก เจ้าหน้าที่จะพามาตรวจโรคและให้อยู่ในสถานที่กักกันตามกำหนด

วันนี้ (6 มี.ค.2563) กระทรวงสาธารณสุขแถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลังกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ประเทศเกาหลีใต้ จีน อิตาลี และอิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย COVID-19

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 1 คน เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 43 ปี อาชีพที่ปรึกษาบริษัท ที่เดินทางมาจากอังกฤษและเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกงก่อนเข้าไทย โดยเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ มีเสมหะ ส่งตัวรักษาต่อที่สถาบันโรคทรวงอก

ส่วนแรงงานนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ พบหญิงไทย อายุ 30 ปี ตรวจพบอาการไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.) ส่งมารักษาตามระบบที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบเชื้อจากห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง อยู่ระหว่างการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีกแห่ง ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยสะสม 48 คน หายแล้ว 31 คน เสียชีวิต 1 คน และอยู่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 16 คน 

สำหรับประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย COVID-19 จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน อิตาลี อิหร่าน เนื่องจากมีผู้ป่วยเกิน 1,000 คน และมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มวันละ 300-400 คน เสี่ยงแพร่ระบาดสูง ส่วนประเทศที่ควรหลีกเลี่ยงจำนวนคงเดิม 9 ประเทศ โดยการประกาศดังกล่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการควบคุมโรค เช่น กรณีไม่แจ้งพบผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง โดยขอความร่วมมือให้กักตัวในที่พัก 14 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากเมืองแทกู และคยองซังเหนือ ของเกาหลีใต้ จะประสานรับการกักกันในพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนด

สถานที่กักตัว เช่น ชลบุรี ประจวบฯ ต้องดูสถานที่และดูความเหมาะสม รวมทั้งความพร้อมกับกองทัพ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1-2 วัน

กักตัว 14 วัน แรงงานจากเกาหลีใต้

ส่วนแรงงานนอกระบบที่กลับมาจากเกาหลีใต้ แต่ไม่ได้มาจาก 2 เมืองดังกล่าว จะต้องกักตัวที่ภูมิลำเนา แต่ไม่ใช่ที่บ้านพัก โดยมี อสม.ร่วมดูแล นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมมาตรการรองรับ เช่น คัดกรองที่ท่าอากาศยาน หากมีไข้ ไอ หอบเหนื่อย จะส่งโรงพยาบาลทันที

ปลัดฯ สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรค COVID-19 โดยมีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค วันละ 300-400 คน พร้อมขอร้องให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดกักตัวในที่พัก 14 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม สธ.จะให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพาเข้าที่กักกัน เพราะขอต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน

แรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้ แม้จะมีสุขภาพแข็งแรงแต่ก็ต้องมากักตัว หากครบ 2 สัปดาห์แล้วสุขภาพดี ก็สามารถมาใช้ชีวิตปกติ คนที่เซลฟี่ ขอบคุณมากที่เซลฟี่ หากใครเจอในเฟซบุ๊กให้บอกว่าอยู่จังหวัดไหนได้จะยิ่งดี เพราะเจ้าหน้าที่จะไปตามตัวมากักตัวเพื่อรักษา วันนี้การลงโทษมีตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าวันนี้เรามีวินัย ช่วยดูแล อาจทำให้ควบคุมได้

เร่งกระจายหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาล

นอกจากนี้ การสำรวจปริมาณหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พบว่าโรงพยาบาลบางแห่ง เหลือสำรองใช้เพียง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้อย่างน้อยต้องมีสำรองใช้ 1 เดือน โดยมอบหมายผู้ตรวจราชการ กระจายให้เพียงพอ เพราะขอกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 600,000-700,000 ชิ้น เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งสั่งซื้อชุดป้องกันมาจากต่างประเทศรวม 400,000 ชุด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคคลากรทางการแพทย์ หากโรงพยาบาลขาดแคลน ขอให้ติดต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้แบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม 1 คือ 4 ประเทศเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร, กลุ่มที่ 2 อยู่ในรายการ 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิหร่าน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง และกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มประเทศเฝ้าระวัง โดยหลักเกณฑ์จำนวนผู้ป่วย และผู้ป่วยรายใหม่ และประเทศแต่ละประเทศสามารถขยับลงได้ หากมีความเสี่ยงน้อยลงและมีผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน

มาจาก 4 ประเทศ ต้องรายงานสุขภาพทุกวัน

สำหรับประเทศเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ในส่วนของแรงงานนอกระบบจะป้องกันเต็มที่ที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ส่วนนักเดินทางชาวต่างชาติ ไม่มีนโยบายที่จะรับมากักโรคทั้งหมดในลักษณะแรงงานนอกระบบ แต่จะออกกฎให้ทุกคนที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศ ต้องรายงานสภาวะสุขภาพทุกวัน หากปฏิบัติไม่ครบถ้วน หรือให้ข้อมูลทีผิดพลาด เช่น มีอาการไข้แล้วบอกว่าไม่ไข้ ไอแล้วบอกไม่ไอ จะมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และหลังจากนี้จะปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามความเสี่ยงเรื่อย ๆ โดยกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจากหลายปัจจัย ใครที่สามารถกักโรคที่บ้านได้ก็ควรจะทำ เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนใกล้ตัว

เมื่อมีอาการและรายงานตัวเข้ามาก็จะมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อไปรับตัวเข้ามารักษา

นพ.ธนรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวผู้ติดเชื้อ เพราะหากมีการยืนยันผู้ป่วยจริง กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงแน่นอน ที่สำคัญเมื่อพบผู้ป่วยแล้วจะเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อลดจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิด ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลักษณะเหมือนไทยกำลังเดินถอยกลับไปที่ระยะที่ 1 ส่วนกรณีนักศึกษาไทยจากอิหร่านป่วย COVID-19 สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเท่านั้น

ปัจจัยที่จะทำให้เราไม่ไประยะที่ 3 คือ ถ้ามีอาการและไปประเทศเสี่ยงมา ก็ต้องไปพบแพทย์ทันที ดูแลตัวเอง เตรียมเจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย สัมผัสคนอื่นให้น้อยที่สุด ต้องท่องว่าโรคนี้ต้องหยุดที่เรา ก็จะช่วยยุติการแพร่ระบาดได้

 

 เกาะติดสถานการณ์ไวรัสCOVID-19: https://news.thaipbs.or.th/focus/Coronavirus2019

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง