กรมศิลป์ อ้างภาพเขียนเขายะลาพังเอง-นอกเขตโรงโม่

ภูมิภาค
6 มี.ค. 63
18:05
1,088
Logo Thai PBS
กรมศิลป์ อ้างภาพเขียนเขายะลาพังเอง-นอกเขตโรงโม่
อธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงประกาศลดพื้นที่ 190 ไร่ โบราณสถานเขายะลาไม่เกี่ยวสัมปทานเหมืองหิน ระบุ เป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่ที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี ย้ำยังคงสภาพเดิมและได้รับการปกป้องตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน อ้างพังเองจากน้ำกัดเซาะ-รอยเลื่อย

วันนี้ (6 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเสียหายส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นกับภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งคาดว่าอายุไม่น้อยกว่าพันปี ที่เขายาลอ หรือ เขายะลา ต.ลิดล-ยะลา อ.เมืองยะลา จากภาพความยาวต่อเนื่องทั้งหมดเกือบ 3 เมตร สร้างความคลางแคลงใจให้คนในพื้นที่ ว่า นี่อาจเป็นผลจากการออกประกาศของกรมศิลปากร เรื่องการแก้ไขเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา จากเดิม 887 ไร่ ถูกปรับลดกว่า 190 ไร่ โดยอ้างว่า จำเป็นต้องใช้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมเเทนเเห่งอื่น

นำไปสู่การยื่นหนังสือของเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลาให้ตรวจสอบการทำงานของ นายอนันต์ ชูโชติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ที่ลงนามในประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง คือวันที่ 30 ก.ย.2562

ไทยพีบีเอสสอบถามไปยัง นายอนันต์ ชูโชติ ซึ่งอ้างว่า อำนาจการตัดสินใจเป็นไปในนามกรมศิลปากร และตนเองเกษียณอายุราชการไปแล้วขอปฏิเสธให้ข้อมูล

ด้าน นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงผ่านจดหมายและให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ ว่า การประกาศแก้ไขเขตโบราณสถานโดยรอบภาพเขียนสีเขายะลา ในปี 2562 มาจากการพิจารณร่วมกันของกรมศิลปากรและหลายหน่วยงาน ไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหิน เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่ก่อนแล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี ทั้ง 2 แห่ง

 

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาพเขียนสีเขายะลา ก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 1 สงขลา ระบุว่า การพังทลายเกิดขึ้น เมื่อปี 2551 จากรอยเลื่อนและการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ประกอบกับบริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นโพรง และการทำเหมืองในอดีตทำให้รอยแตกขยายกว้างขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานเหมืองหินที่อยู่โดยรอบในปัจจุบัน

ภาพเขียนสีเขายะลา ยังคงสภาพเป็นโบราณสถานเหมือนเดิม และได้รับการปกป้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปี 2504


ส่วนข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ของเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมความโปร่งใสในการทำงานของอดีตอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมขอให้เร่งสำรวจพื้นที่แถบ ต.ลิดล และ ต.ยะลา ต่อเนื่องถึงกลุ่มเขาใกล้เคียง รวมทั้งการทบทวนยกเลิกประกาศ เพื่อให้เขายะลากลับไปสู่การปกป้องคุ้มครอง จากนี้กรมศิลปากรจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องกรมศิลป์ อดีตอธิบดีเซ็นทิ้งทวน ยกพื้นที่โบราณสถานให้โรงโม่

สำรวจเหมืองหินรอบเขตโบราณสถานยะลา

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง