เตรียมรื้อฟื้นโครงการ กก-อิง-น่าน ผันน้ำสู่ลุ่มเจ้าพระยา

ภูมิภาค
9 มี.ค. 63
15:34
1,216
Logo Thai PBS
เตรียมรื้อฟื้นโครงการ กก-อิง-น่าน ผันน้ำสู่ลุ่มเจ้าพระยา
กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ เตรียมรื้อฟื้นโครงการ กก-อิง-น่าน ผันน้ำสู่ลุ่มเจ้าพระยา เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมมองแก้ปัญหาปลายเหตุหวั่นกระทบระบบนิเวศทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา และน่าน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เพื่อศึกษา และประชุมรื้อฟื้นโครงการเกี่ยวกับโครงการผัน น้ำกก, อิง, น่าน ที่เคยมีการศึกษาเมื่อหลายปีก่อน ผันน้ำจากลุ่มน้ำอิง และน้ำกก ลงสู่แม่น้ำน่าน และไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ ใช้เป็นแหล่งน้ำในลุ่มน้ำภาคกลาง

 

 


"ครูตี๋" นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ มองการพยายามผลักดันโครงการผันน้ำ กก, อิง, น่าน ว่าเป็นความคิดที่วิปริตเพราะสิ่งสำคัญของการจัดการน้ำ คือการใช้น้ำ และการดูแลรักษาแม่น้ำ โดยมองว่าแม่น้ำต้องมีการบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำอิง น้ำกก ด้วยการฟื้นฟู หรือการดูแลรักษา แต่การผันน้ำเป็นความคิดที่ผิดเพราะปัจจุบันน้ำอิง ยังไม่เพียงพอกับการใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หากมีการผันน้ำจากแม่น้ำกก อิง ไปแม่น้ำน่าน ลงสู่ภาคกลาง เกรงจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศ หากมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำ ฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมหรือไม่ยังไม่มีคนตอบได้? แต่โครงการจะกระทบกับคนในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันก็กระทบมากแล้วจากการใช้น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับความต้องการ

 

 

 

น้ำมีแค่นี้ แต่ปริมาณการใช้มากกว่าที่มีอยู่ ต้องมีการบริหารจัดการให้สมดุล


ภาพของการบริหารจัดการน้ำควบคุมน้ำ มีบทเรียนจากแม่น้ำโขง จากการต่อสู้ในลุ่มน้ำโขง สะท้อนปัญหารการจัดการสร้างเขื่อนในจีน ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่า เขื่อนเป็นปัญหาใหญ่ในแม่น้ำ น้ำถูกจัดการด้วยน้ำมือมนุษย์ ปกติแม่น้ำจะถูกจัดการด้วยธรรมชาติ ตามฤดูกาล แต่เขื่อนถูกจัดการด้วยน้ำมือมนุษย์ ภายใต้ผลประโยชน์

 

แม่น้ำไม่ใช่เป็นท่อในน้ำมีระบบนิเวศ มีหนอง มีหลง เป็นที่อยู่อาศัย หาอยู่หากินทั้งคน และปลา ถ้ามีการผันน้ำผ่านท่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะอยู่จะกินอย่างไร?

 

เมื่อมีสิ่งปลูกสร้างในลำน้ำยังส่งผลต่อ การอพยพของปลาเพื่อวางไข่ จากแม่น้ำโขง สู่แม่น้ำอิงจะเปลี่ยนไป ช่วงน้ำหลากน้ำจะไม่หลากแล้ว เมื่อน้ำไม่หลากปลาก็ไม่ขึ้นมาวางไข่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นโครงการ กก-อิง -น่าน ไม่สมควรกลับมาอีกแล้ว บทเรียนสำคัญของการจัดการลุ่มน้ำ การพัฒนา คือ การใช้น้ำอย่างสมดุล ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกกระทำอย่างไร ?

 

 


ขณะที่ในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค. 2563 นายวีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ รองประธานคนที่ 1 กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา และน่าน เพื่อศึกษาและประชุมเกี่ยวกับโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง