แรงงานไทยจากเกาหลีใต้เผยภาพสถานกักตัวไม่พร้อม-ไม่พอ

สังคม
10 มี.ค. 63
12:01
2,155
Logo Thai PBS
แรงงานไทยจากเกาหลีใต้เผยภาพสถานกักตัวไม่พร้อม-ไม่พอ
กรณีแรงงานที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้และถูกนำมากักตัวในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ร้องเรียนว่าสถานที่ไม่มีความพร้อม ล่าสุด จ.บุรีรัมย์ ยืนยันเกิดปัญหาความผิดพลาดการคัดกรองที่กรุงเทพฯ และส่งคนจังหวัดอื่นๆ มาที่บุรีรัมย์ รวมกว่า 180 คน จึงทำให้ที่พักไม่เพียงพอ

วันนี้ (10 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนบางส่วน เกี่ยวกับแรงงานที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ แล้วไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ ขณะที่แรงงานที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ก็ร้องขอความเป็นธรรม และทวงถามถึงมาตรการตรวจคัดกรอง

กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ระบุว่าเป็นแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกับสามีชาวเกาหลีใต้ ไลฟ์ให้ชมบรรยากาศของสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดให้สำหรับการกักตัว 14 วันใน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดเต็นท์ให้นอนคนละ 1 หลัง โดยเธอและสามียืนยันจะพักเต็นท์เดียวกัน และยังโพสต์ข้อความระบุด้วยว่า ไม่มีการแยกห้องอาบน้ำชาย-หญิง

 

ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนนี้ยังเล่าผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองสามีชาวเกาหลีใต้ของเธอ และต้องการให้ทั้งคู่แยกกัน โดยหากเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติ แม้จะเดินทางมาด้วยสายการบินเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็จะคัดกรอง แล้วอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยแจ้งว่าขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารชาวต่างชาติกักโรคอยูในที่พักของโรงแรมเป็นเวลา 14 วันเท่านั้น

ส่วนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ PR.Thailand เผยแพร่ภาพสถานีศูนย์พักพิงชั่วคราวใน จ.ขอนแก่น โดยมีการจัดอาคารและจัดให้มีสถานที่นอน 40 เตียง พร้อมมุ้งครอบและของใช้ส่วนตัวในขัน แต่ละเตียงอยู่ห่างกัน 2 เมตร พร้อมมีเครื่องเสียง โทรทัศน์ และห้องน้ำโดยเฉพาะ แม้จะมีการจัดสถานที่ไว้รองรับแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมของสถานที่

 

จากการสอบถามพูดคุยกับญาติของผู้ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้คนหนึ่ง อ้างว่า ญาติของตัวเองต้องถูกกระบวนการคัดแยกนานหลายชั่วโมง โดยไม่ได้กินน้ำและอาหาร ทำให้รู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติ เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางกลับมาสายการบินเดียวกัน แต่ไม่ได้ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

สำหรับมาตรการคัดกรอง ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีพื้นที่กักตัวในพื้นที่ควบคุมกว่า 200 แห่ง ซึ่งไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหา

ด้านกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การคัดเลือกสถานที่แต่ละจังหวัด จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยเตรียมพื้นที่รองรับกลุ่มที่จะเข้ามาใหม่ 232 แห่ง ประมาณ 10,000 คน เป็นสถานที่ปิด ไม่ให้คนเข้าออก

ตรวจสอบการกักตัวแรงงาน จ.บุรีรัมย์

ด้าน จ.บุรีรัมย์ ยืนยันว่า ได้จัดเตรียมสถานที่กักตัวไว้ 3 แห่งคือ สนามกีฬาของเอกชน, ค่าย อส. และวัดแห่งหนึ่งใน อ.นางรอง

สำหรับสนามกีฬาของเอกชนตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ สามารถรองรับแรงงานที่มีภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์ 60 คน แต่เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) ขั้นตอนการคัดกรองที่กรุงเทพฯ ไม่ได้แยกแรงงานตามจังหวัด โดยส่งแรงงานจังหวัดอื่นมาที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งหมด 180 คน ทำให้ที่พักที่จัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องให้พักก่อนเนื่องจากมืดแล้ว และวันนี้ (10 มี.ค.) จะคัดกรองและส่งไปกักตัวที่จังหวัดตามภูมิลำเนา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง