ใครจะอาสา? ถามหาความเสียสละในวิกฤต COVID-19

Logo Thai PBS
ใครจะอาสา? ถามหาความเสียสละในวิกฤต COVID-19
ความหนักใจของเจ้าหน้าที่หน้างาน เมื่อ "บิ๊กข้าราชการ" เกี่ยงงาน-เกียร์ว่าง รับมือโควิด-19 โยน "หมอ-ฝ่ายปกครอง" รับมือคุมระบาด-กักตัวคนไทยกลับจากต่างแดน

ปิดต้น-เปิดปลาย กลายเป็นวิธีที่รัฐบาลใช้รับมือกับโควิด-19 ตอนนี้ เมื่อรัฐบาล "ปิดต้นทาง" ยกเลิกฟรีวีซ่า 3 ประเทศ และ VOA อีก 18 ประเทศ

ว่าให้ง่ายขึ้น คือทำให้การขอเข้าประเทศไทยของประเทศเหล่านี้ยากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ปิดกั้น 100%

ส่วน "เปิดปลาย" กลายเป็นนิยามของการปล่อยให้ "คนไทยที่กลับจากต่างแดน" ได้กลับบ้าน-กลับไปกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน เพราะเอาเข้าจริง! ศูนย์กักตัวที่รัฐบาลสั่งให้เปิดทั่วประเทศยังไม่มีความพร้อม

ลำพังศูนย์ใหญ่อย่างอาคารกักตัว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีบุคลากร-อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ส่วนศูนย์ทั่วประเทศ กว่า 200 แห่ง ยังไม่มีความพร้อม ถ้าบางกันตามจริงยังตั้งศูนย์ได้ไม่กี่แห่ง

ที่เห็นเป็นข่าว... น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องพลิกแผน เพราะดูจากสภาพน่า อเนจอนาถใจ -ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ญาติพี่น้องของคนไทยที่ถูกกักตัวคงอยากร้องไห้

เช่น ภาพที่ออกมาจากศูนย์กักตัวที่ จ.บุรีรัมย์ ใช้ลานจอดรถ กางเต็นท์นอน และใช้ห้องน้ำรวม ทำให้การกกักตัวที่หวังจะลดความเสี่ยงในการติดโรค อาจกลายเป็นแหล่งระบาดแทน

ถึงบรรทัดนี้จึงตอบได้ถึงเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลไทยตัดสินใจสั่งยุบศูนย์ เพราะ 1.ความไม่พร้อม และ 2.ขาดทรัพยากร ทั้งบุคลากร-อุปกรณ์

ยิ่งไปกว่านี้ ข้อมูลที่ได้จาก "แหล่งข่าว" เล่าว่า... ยังน่ากังวล

เพราะบางแห่งอาจใช้คำว่า "ไม่พร้อม" ไม่ได้ เพราะบางจังหวัดยังไม่ได้ "สถานที่กักตัว" ด้วยซ้ำ

ไม่มีหน่วยงานหน้าไหนจะ "อาสา-เสียสละ" ใช้พื้นที่ของตัวเอง พอจะใช้สถานที่หน่วยงานรัฐก็สั่งการข้ามขา-ข้ามกระทรวงไม่ได้


1.
ว่าด้วยเรื่อง "สถานที่" จึงขอยกตัวอย่างพื้นที่เสี่ยงอย่าง จ.เชียงใหม่ เพราะมีคนไทยกลับจากต่างประเทศไม่น้อย ไหนจะต้องกังวลไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยวที่ซบเซาอยู่แล้ว

พอจะหาสถานที่ใช้ "ศูนย์กักตัว" คนก็กลัวไปหมด จะใช้ "ค่ายทหาร" ก็ไม่มีกรมกองไหนอยากรับถ้ากองทัพไม่สั่งการ ส่วนจะไปใช้สถานที่ราชการคนในหน่วยงานได้ยินก็กลัวแล้ว

งานหนักจึงมาตกที่ "หมอ" และโรงพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ต้องรับความคาดหวังของรัฐบาลและคนในพื้นที่

ต้องอธิบายก่อนว่าการใช้กลไกของ "หมอ" ไม่ใช่เรื่องวง่าย จะคิด-จะทำอะไรก็ได้

ตามโครงสร้าง "กระทรวงสาธารณสุข" ต้องขอไฟเขียวจากโครงข่ายอำนาจอย่าง "ผู้ตรวจการ" ในเขตก่อน (มี12 เขต ทั่วประเทศ) เช่นเดียวกับกรณี จ.เชียงใหม่ ที่ "หมอ" ในจังหวัดจะคิด-จะทำอะไร ต้องผ่านกลไกนี้ก่อน แต่เท่าที่ทราบ... เสนอมาตรการใดไปก็ "เกียร์ว่าง" เสียทั้งหมด

เคส 1 อย่างเรื่องการขอสถานที่กักตัว ลำพัง "หมอ" จะขอหน่วยงานใช้เป็น "สถานที่กักตัว" คนก็กลัวอย่างที่บอก จึงใช้กลไกของ สธ. ขอไปยังผู้ตรวจฯ ช่วยประสานไปยัง "จังหวัด" หรือ "กองทัพ" แต่กลับโดนตีกลับให้เป็นหน้าที่ "หมอ" ที่ต้องไปประสานผู้ว่าฯ เอง

ส่วนผู้ว่าฯ นะหรือ ถ้า รมว.มหาดไทย ไม่มีคำสั่ง ก็เงียบเช่นกัน ความหวัง! จึงกลับมาที่ “หมอ” เช่นเดิม

ไม่ว่าจะเรื่องอะไรๆ ก็กลายเป็น "หมอ" ต้องจัดการ ขณะที่ "บิ๊กข้าราชการ" ผู้ใหญ่ในกระทรวงหมอ จังหวัด กองทัพ ใส่เกียร์ว่าง!

เคส 2 เป็นมาตรการเชิงรุก ที่ "หมอ" เสนอให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ตั้งวอร์รูม "บล็อก" กลุ่มเสี่ยง โดยกระจายไปตาม 4 มุมเมือง โดยสร้าง "วอร์ดใหม่" (Round ward) กันผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยง โควิด-19 แยกไปต่างหาก คำนวณคร่าวๆ จะสร้างวอร์ดใหม่นี้ต้องใช้เงินประมาณแห่งละ 8-10 ล้านบาท รวม 40 ล้านบาท ถ้าให้ครบสี่มุมมองเชียงใหม่

จะคิด-จะเสนอ อะไรก็ได้ แต่สุดท้ายผู้ใหญ่ก็เงียบ

สถานที่ก็ไม่ให้ –ทรัพยากรก็ไม่มี ไม่แปลกที่บรรดาหมอๆ และบุคลากรทางการแพทย์ จะรู้สึกเหมือนนักรบไม่มีเกราะ-ไม่มีค่าย และถูกส่งไปตายเอาดาบหน้าในสนามรบ

2.
เมื่อไส้ในของการจัดการไม่เป็นดังข้างต้น จึงค่อนข้างแปลกใจกับดำริของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่สั่งยกเลิกศูนย์กักตัวทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมานอกจาก "ประกาศ" เป็นสิบเป็นร้อยฉบับ ยังไม่มีแผนในทางปฏิบัติที่ชัดเจน

ส่วนใหญ่กลายเป็นการโยนความรับผิดชอบให้ "ฝ่ายปกครอง-เจ้าหน้าสาธารณสุข" ในท้องที่จัดการกันเอง 

ท้องถิ่นไหนพร้อมก็ดีไป –แต่ถ้าไม่พร้อม การกักตัวที่บ้านอาจไม่ต่างจากการกักตัวที่โรงรถใน จ.บุรีรัมย์

ไหนๆ จะพูดเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่จะไม่มีข้อดี ท้องถิ่นที่ทำแล้วประสบความสำเร็จก็มี และขอกลับไปที่ตัวอย่างเดิมที่ จ.เชียงใหม่ 

เช่น อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เขาใช้กลไก "ผู้ใหญ่-อสม." เทียวเข้าเทียวออก-เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงตั้งนานแล้ว เพราะเชื่อว่าคนในพื้นที่ "รู้ดีที่สุด" ว่าคนในหมู่บ้านมีคนเป็นกลุ่มเสี่ยง-กลับจากต่างประเทศ

จะให้รอข้อมูลจากส่วนกลางหรือจะรอจาก "สาธารณสุขจังหวัด- จังหวัด" คงไม่ทันกาล เพราะข้อมูลแต่ละกรมกองไม่ตรงกัน ที่สำคัญยังมีแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายนอกระบบด้วย

ย้ำ! เขาทำมาแล้ว ตั้งแต่ก่อน รมว.มหาดไทย สั่งการ (ไทยพีบีเอสเผยแพร่กรณีตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ วันที่ 7 มี.ค.2563) เพราะถ้าไม่ทำเสียตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้อาจถึงขั้นเอาไม่อยู่

ท้องถิ่นที่พร้อมก็ดีไป แต่ที่ว่าน่าขนลุก! คือท้องถิ่นที่ไม่พร้อม เพราะรัฐบาลเลือก "โยน" ภาระไปให้คนในพื้นที่จัดการกันเอง แต่ไม่ใช่ ทุกท้องถิ่น (อบต.-อบจ.) และทุกท้องที่ (นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่) จะมีความพร้อมเสมอไป

ตอนนี้รัฐบาลอ้างใช้การ "กระจายอำนาจ" ให้ท้องถิ่นใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ เน้น Flexible หรือยืดหยุ่นเข้าไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ฟังเหมือนดีแต่ก็มีจุดเสี่ยง

เพราะการกระจายอำนาจที่ท่านอ้าง เป็นแค่การ "โยนงาน" ให้ท้องถิ่นไปแก้เอาเอง มอบหมายภารกิจ แต่ไม่มีอำนาจ –ทรัพยากร แม้แต่แนวทาง-แผนหรือกฎหมาย ที่จะให้คนในพื้นที่ได้ใช้หลังอิงก็ยังไม่มี

ข้อสรุปที่ได้ ณ วันนี้ คือไม่มีใครจะ "อาสา-เสียสละ" ในยามวิกฤต ขณะที่ "บิ๊กข้าราชการ" ที่เป็นผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ยังรอคำสั่งนักการเมือง ไฟเขียว-ไฟแดง

สุดท้ายก็ใช้การโยนความรับผิดชอบ ให้ท้องที่-ท้องถิ่น รับมือหรือจัดการกันเอาเอง

ท่ามกลางวิกฤตนี้ เราคงต้องหันกลับมาทบทวน ว่าสิ่งที่ทำๆ กันมาถูกทางแล้วหรือไม่ ?

วันนี้ยังกลับตัวทัน ถ้าสร้างความเข้มแข็งส่วนกลางไม่ได้ ก็คงถึงเวลาที่ต้องเติม “กระสุน” ให้เจ้าหน้าที่หน้างานได้รบกับ โควิด -19 อย่างนักรบที่มี “เสื้อเกราะ” และ “อาวุธ”

จะติดก็แต่ท่านไม่พยายาม...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง