รำลึก 2 ปีแห่งการจากไป "สตีเฟน ฮอว์กิง" นักจักรวาลวิทยาอัจฉริยะโลก

Logo Thai PBS
รำลึก 2 ปีแห่งการจากไป "สตีเฟน ฮอว์กิง" นักจักรวาลวิทยาอัจฉริยะโลก
14 มี.ค. ครบรอบ 2 ปีแห่งการจากไปของ "ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง" นักจักรวาลวิทยาและนักเขียนระดับตำนาน อัจฉริยะบุคคลในรอบศตวรรษ ต่อจาก "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์"

ศ.สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์กิง ( Stephen William Hawking)​ เกิดเมื่อเดือนมกราคม ปี 1942 เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยา และนักเขียน เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษนำไปสู่การค้นพบทฤษฎีต่างๆ ในจักรวาล นับเป็นอัจฉริยะบุคคลในรอบศตวรรษ ต่อจาก "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์"

หลายคนคงจะเคยเห็นชายคนนี้ ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย กับเรื่องราวน่าอัศจรรย์ใจของเขา หลังป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ตั้งแต่เขาอายุ เพียงแค่ 21 ปี แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของการค้นคว้าข้อมูล ทางทฤษฎีต่าง ๆ ในจักรวาล

ช่วงแรก ๆ แม้ยังไม่ป่วยหนัก ฮอว์กิง และเพื่อนได้ศึกษาทฤษฎีอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิทยาศาสตร์สำคัญของเขา พูดถึงทฤษฎีบทเกี่ยวกับภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วงในกรอบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ร่วมกับเพื่อนเขานั่นคืิอ "โรเจอร์ เพนโรส" และการทำนายเชิงทฤษฎีที่ว่าหลุมดำควรปล่อยรังสีชนิดหนึ่ง ซึ่ง ปัจจุบันมีชื่อว่า รังสีฮอว์กิง และนำไปสู่องค์ความรู้เรื่องจักรวาลยุคใหม่ รวมถึงทฤษฎีกำเนิดจักรวาลด้วย

แม้จะต้องใช้รถเข็นไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้แม้แต่กระทั่งการพูด แต่ฮอว์กิงยังคงเดินทางไปบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้ ทางฟิสิกส์ และเรื่องราวจักรวาลไปทั่วโลก

เขาสื่อสารด้วยการใช้กล้ามเนื้อใบหน้าบังคับคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายเพื่อแปลงเป็นเสียงพูด ระบบนี้จากบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง

แม้การเคลื่อนไหวของเขาถูกจำกัด แต่เรายังมีโอกาสเห็นรอยยิ้มของเขาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่ไร้ข้อจำกัด อย่างการฉลองวันเกิดปีที่ 65 ด้วยการสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักบนเที่ยวบิน Zero-Gravity บนโบอิ้ง 727 เมื่อปี 2013

สฟีเฟนส์ ฮอว์กิง ยังเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน โดยเฉพาะข้อจำกัดการเคลื่อนไหวทางร่างกายด้วยโรค ALS ที่กล้ามเนื้อร่างกายแทบทุกส่วนไม่สามารถขยับได้ ยกเว้นกล้ามเนื้อที่ใบหน้า แต่ด้วยเขายังมีลมหายใจ และการทำงานของสมองยังทำงานปกติ ทำให้เขาหมั่นศึกษาทฤษฎีทางเอกภพที่ยุ่งยาก ซับซ้อนอยู่เสมอ

ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง จากไปอย่างสงบ ในวันที่ 14 มี.ค. 2018 อายุ 76 ปี

นอกจากทฤษฎีที่ ศ.ฮอว์กิง ได้ศึกษาไว้เป็นมรดกทางความรู้ แต่ยังมีประโยคหนึ่ง ที่เขาได้กล่าวไว้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง นั่นคือ "ความต้องการของมนุษย์ไม่ควรถูกจำกัดด้วยความบกพร่องทางร่างกาย ตราบเท่าที่เราไม่บกพร่องทางจิตวิญญาณ"

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง