ปิดเมือง Take Action เป็น “ผ้ายันต์” กัน COVID-19

Logo Thai PBS
ปิดเมือง Take Action เป็น “ผ้ายันต์” กัน COVID-19
ถามใจคนไทยในจังหวัด “ปิดเมือง” เห็นเป็นเรื่องนักการเมืองโกยคะแนน หรือ อุ่นใจได้มาตรการเฝ้าระวังเพิ่มในวันที่รัฐบาลยังรับมือโควิด-19 ไม่ทันใจ

“ปิด” พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อ “ลุงเน” เนวิน-ชิดชอบ ประกาศปิดบุรีรัมย์ ตามมาด้วย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” เจ้าของพื้นที่ อุทัยธานี

แม้ทั้งคู่จะปฏิเสธไม่ใช่นโยบายนักการเมือง –ไม่ใช่นโยบายภูมิใจไทย แต่จังหวะก้าวแยกกันไม่ออก

แง่การเมืองคนอาจจะมองว่าเป็น take action เอาหน้า! ทว่าในระดับพื้นที่ไม่ใช่จะไร้ผลดี

“อย่างน้อยได้สบายใจไปอีก 1 วัน” เสียงของคนในพื้นที่เมื่อได้วัดไข้ แล้วรู้ว่าไม่มีไข้ ก็อุ่นใจไปได้ 1 วัน

นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึก อย่างน้อยก็รู้สึก สบายใจ-ความอุ่นใจ ที่ได้วัดไข้-ได้ใช้เจลล้างมือ ส่วนจะกันคนเข้า-ออกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง

มองแบบรัฐรวมศูนย์ เรายึดคำ “หมอ” และส่วนงานราชการเป็นสำคัญ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่ากันไม่ได้ผิด

เช่น คำว่า “ปิดเมือง” ถ้าดูในทางปฏิบัติ บุรีรัมย์-อุทัยธานี จะเรียกปิดเมืองคงไม่ใช่ แต่เป็นการเพิ่มจุดตรวจ-จุดคัดกรอง ให้ประชาชนเสียมากกว่า

แต่ถ้าปิดจริงต้องนึกถึงฉาก “อู่ฮั่น” ของจีน ที่ “ปิดเมือง” โดยกักตัวคนป่วยไว้ข้างใน ไม่ให้ออกเมืองไปสู่ภายนอก ไม่ใช่การปิดกัน “คนนอก” ไม่ให้เข้าจังหวัด

เพราะเอาเข้าจริง! ต่อให้ปิดอย่างไรก็คงต้านไม่ไหว และเชื่อว่ามี “คนป่วย” เล็ดลอดเข้าไปได้ เพราะเจ้าเชื้อโควิด-19 ใช่ว่าจะสำแดงอาการทันทีทันใด ยังมีบางคนที่อมเชื้อไว้ในระยะฟักตัว... นั่นจึงไม่มีใครรับประกันว่าจะป้องกันได้ 100%

ดังนั้น หมอๆ และสาธารณสุข จึงไม่เชื่อมาตรการนี้ และไม่แปลกที่ “สาธารณสุขจังหวัด” และ “ผู้ว่าฯ” จะเกียร์ว่าง! ไม่สั่งการให้ข้าราชการเด้งตามนักการเมือง ไม่นับรวมแรงกดดันจากส่วนกลาง ว่ากันว่า “บิ๊กมหาดไทย” และผู้นำรัฐบาล รู้สึกไม่พอ

แต่กับคนในพื้นที่ไม่เป็นแบบนั้น...

ร้อยทั้งร้อยเมื่อซาวด์เสียง คน-ชาวบ้าน-นักท่องเที่ยว ผู้ใช้ “อากาศ” หายใจ แม้เขาจะไม่ได้ตระหนกเท่าชาวกรุงฯ แต่การมีมาตรการเล็กๆน้อยๆ ที่ช่วยให้พวกเขาได้ดูแลตัวเอง

สิ่งเหล่านี้เข้าทำนอง “ดีกว่าไม่ทำอะไร” หรือจะให้รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่พวกเขาเสียความเชื่อใจ

แม้มาตรการลักษณะนี้จะถูกค่อนขอดอยู่บ้าง อย่างที่ อุทัยฯ เพราะคนต้องเอ๊ะ! แต่แรก ว่า อุทัยฯ ไม่ใช่ “เมืองเปิด” แต่แทบจะเป็นเมืองปิดในตัวอยู่แล้ว

หมายถึงไม่ได้มีคนเข้า-ออก พลุกพล่าน ไม่ใช่ศูนย์กลางการท่องเที่ยว และมีกลุ่มเฝ้าระวังกลับจากต่างประเทศแค่ 10 คน ไฉนต้องประกาศปิดเมือง และยิ่งส่งเสียงดังโดยตระกูล “ไทยเศรษฐ์” บางส่วนก็ครหาว่าเป็นพื้นที่ โชวพาวเวอร์-โชว์อำนาจ นักการเมือง

นักการเมืองจะได้แต้มหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น... แต่อย่างน้อยการที่คนในพื้นที่เชื่อมั่นใน “ท้องถิ่น” ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล อสม. ฯลฯ ที่ระดมทีมตั้งจุดตรวจ นั่นถือเป็นสัญญาณที่ดี

เพราะวันนี้หากเขาไม่เชื่อในรัฐบาล เขายังเชื่อในผู้นำท้องถิ่นของเขา

และปฏิกิริยาแบบนี้กลายเป็น “ลูกโซ่” ลามต่อที่ ฉะเชิงเทรา อุบลฯ และอื่นๆ ที่จะทำตามกัน

เรื่อง “วิทยาศาสตร์” ก็เข้าใจ แต่เรื่อง “จิตใจ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งในสภาวะที่คนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล แต่คนยังพอวางใจท้องถิ่นของเขา จะเป็นประโยชน์ในการรับมือโควิด-19 ในระยะ 3 เพราะเวลานั้นรัฐส่วนกลางจะเอาไม่อยู่และต้องใช้ท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญ

จะรอพึ่ง ผู้ว่าฯ –สาธารณสุขจังหวัด นะหรือ... ต้องรอไฟเขียว-ไฟแดงจากรัฐบาล กว่าจะได้ “น้ำ” มาดับไฟ ไฟได้ลามบ้านเมืองวอดวาย

การปิดเมือง ที่ไม่ใช่ปิดเมือง แต่เป็นการ “ยกระดับ” เฝ้าระวังโควิด-19 ที่ทำตามๆ กันอยู่ มีข้อดีอย่างหนึ่ง

เป็นเหมือนกับ “ผ้ายันต์” ที่ใช้กันโรคโควิด -19 

แม้จะไม่มีใครยืนยันว่ามันจะได้ผล 100% แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรู้สึกมั่นใจและเชื่อใจคนในท้องถิ่น ว่าจะช่วยกันรับมือโควิด-19 ได้

ความเชื่อมีได้ในหลายระดับ อย่างน้อยการเพิ่ม “จุดคัดกรอง” นี้ แม้จะเป็นเหมือน “ผ้ายันต์” ที่ไม่รับประกันผล... แต่อย่างน้อยคงดีกว่าการสวดมนต์ไล่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง