"เทวัญ" แถลงยัน "เตียง-ยา" เพียงพอรักษาผู้ป่วย COVID-19

การเมือง
19 มี.ค. 63
15:54
432
Logo Thai PBS
"เทวัญ" แถลงยัน "เตียง-ยา" เพียงพอรักษาผู้ป่วย COVID-19
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดไวรัสCOVID-19 ยืนยันเตียงและยารักษามีเพียงพอ พร้อมผลักดันมาตรการลดภาระผู้ประกอบการสายการบินและลดค่าน้ำ-ไฟลดภาระประชาชน

วันนี้ (19 มี..ค2563) นายเทวัญ ลิปปตพัลลภ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เข้าสู่เดือนที่ 3 ตัวเลขผู้ป่วยอาจมีเพิ่มแต่ผู้เสียชีวิตมีเพียง 1 คน และไทยมีผู้ติดเชื้ออยู่ลำดับที่ 40 จากกว่า 160 ประเทศ และมาตรการของรัฐที่เข้มข้นคือไม่ให้เชื้อไวรัส COVID-19 จากต่างประเทศเข้ามาในไทยได้ โดยปัจจุบันยกเลิกฟรีวีซ่าและ วีซ่า (VISA ON ARRIVAL) แล้วซึ่งการจะเดินทางเข้ามาไทยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ และกรมธรรม์ประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคัดกรองตามความเสี่ยงของประเทศต้นทาง รวมถึงการดำเนินมาตรการเข้มข้นเช่นการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ สนามมวย สนาม้า การแข่งขันกีฬา โรงภาพยนต์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย อาบอบนวด ฟิตเนส และเริ่มมีการเหลื่อมเวลาการทำงาน เพื่อลดความแออัด นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เลื่อนวันสงกรานต์ออกไป และจะชดเชยภายหลังสถานการณ์เรียบร้อยดีแล้ว

นอกจากนี้ขอให้ลดการไปยังพื้นที่ที่มีการชุมชน และหมั่นล้างมือทำความสะอาด หากดำเนินการและออกกำลังกายสม่ำเสมอคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โรค COVID-19 ได้

นายเทวัญ ยังระบุว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในการเตรียมการรับมือโดยมีความพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล เวชภัณฑ์ รวมถึงเตียงรองรับผู้ป่วยซึ่งเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยหนักซึ่งมีเตียงประมาณ 1,200 เตียง และหากสถานการณ์รุนแรงรองรับได้ 10,000 เตียง หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นอยากให้ประชาชรับฟังข่าวสารจากระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล

ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได่หารือกับคณะที่ปรึกษาทีมแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรมการบินพลเรือน ถึงการเตรียมมาตรการต่าง ๆ สิ่งที่พูดตรงกันยืนยันว่า สธ.ดำเนินการมาถูกทางแล้ว โดยยกระดับตามขั้นตอนและเพิ่มระดับความเข้มข้นตามความจำเป็น จากนี้ไปผู้ที่เดินทางมาจากทุกประเทศจะต้องมีใบรับรองแพทย์ว่า ไม่มีเชื้อไวรัส COVID-19 โดบใบรับรองแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมมีประกันภัยกรมธรรม์ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเดินทางเข้าไทยจะต้องยอมรับกระบวนการตรวจคัดกรอง และกักกันโรคเพื่อสังเกตอาการซึ่งจะทำให้โอกาสที่เชื้อจะเข้ามาจะลดลงอย่างมโหฬาร เมื่อยกระดับทุกประเทศจะแทบเข้ามาไม่ได้เลย 

"การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในไทย หมอเปรียบว่ามีไฟไหม้เป็นหย่อม ๆ จึงต้องปิดสถานบันเทิง ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล โรงเรียน สถานศึกษา และนายกฯ ได้สั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการประกาศปิดสถานบันเทิง โดยให้ใช้อำนาจที่เหมาะสมกับสถานการณ์และรายงานให้นายกฯทราบทุกวัน เพื่อที่จะนำผมมาประเมินต่อ"

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯยังให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ทั้งหมดเพื่อรับทราบ รวมถึงการจัดเตรียมเตียง การจัดหาเวชภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการรับมือผู้ติดเชื้อ หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอาจจะใช้โรงแรมสำหรับผู้ที่ต้องสังเกตอาการ ขณะโรงพยาบาลสนามจะเป็นการยกระดับในระดับถัดไป รวมถึงมีการซักซ้อมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหม โดยซักซ้อมในทุกห้วงเวลาเพื่อให้มีความพร้อมและงดการจัดกิจกรรมที่จะรวมตัวทั้งหมด

นอกจากนี้ นางนฤมล ระบุ ภาคเอกชนได้มอบประกันภัย COVID-19 จำนวนกว่า 120,000 กรมธรรม์โดยครอบคลุมเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและและส่วนอื่น ๆ ที่ช่วยในการดูแลและรับมือการดูแลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่ง การควบคุมโรคไม่ใช่เพียงภาครัฐและแพทย์แต่ขึ้นอยู่ว่าประชาชนจะร่วมมือแค่ไหน ที่สำคัญคือ การงดออกจากพื้นที่ งดกิจกรรมทางสังคม ทำเท่าที่จำเป็นเช่นซื้อของ รีบกลับ หากร่วมมือท้ายที่สุดก็จะควบคุมโรคได้

"ระยะเวลาอย่างน้อยเป็นปีที่ต้องอยู่กับโรคนี้ ซึ่งที่ต้องมองต่อไปคือการทำงานเหลื่อมเวลา ต้องขอความร่วมมือกับเอกชนทำงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.เพื่อลดความแออัด ทั้งในการเดินทางและร้านอาหาร และการทำงานส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 สามารถทำงานที่บ้านได้ ขอให้มั่นใจกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าเรามาถูกทางแล้ว"

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกระแสข่าวกรณีหนุ่มชายหนุ่มโพสต์แจ้งว่ากลับจากสเปนและการตรวจคัดกรองน้อย ยืนยันว่า มีการตรวจคัดกรองเข้มงวด 5 จุด ทั้งตรวจด้วยเทอร์โมสแกนและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรอง และแม่บ้านที่สนามบินเป็นลมนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้วจาการตรวจสอบไม่มีเชื้อ COVID -19 และให้การดูแลแล้ว โดยสนามบินสุวรรณภูมิจะช่วยดูแลส่วนเกินจากการรักษาพยาบาลให้

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า การตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินที่สนามบินมีทั้งเทอร์โมสแกน และหากพบคนไข้ที่ไม่สบาย ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขดูแล โดยตรวจคัดกรองเข้มงวดทั้งในในกรณีของชายที่โพสต์แจ้งว่ากลับจากต่างประเทศและมีการตรวจคัดกรองน้อย ขณะที่กรณีแม่บ้านที่เป็นลมก็มีการตรวจดูแลแล้ว

ขณะที่ ภาพรวมทั่วโลกผู้ป่วย COVID-19 จำนวนเกิน 200,000 คน กระจายใน 168 ประเทศทั่วโลก ซึ่งที่มาของสาเหตุที่รัฐบาลพยายามชะลอให้พ้นระยะฟักตัวเช่น การต้องมีใบรับรองแพทย์ และมีกรมธรรม์ประกันโรค COVID-19 ซึ่งผู้ที่ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะมีอาการเบากว่าร้อยละ 80 ซึ่งต้องใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ขณะที่ในไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 200 คน มีผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรง 3 คน โดยอาการป่วยปานกลาง - หนัก 2 คน ป่วยรุนแรง 1 คน หรือ 3 จาก 200 คน ซึ่งไม่ว่าจะเตรียมอุปกรณ์อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือ ต้องลดการแพร่เชื้อลงให้ได้ลดจำนวนผู้ป่วยลงให้ได้ ถ้าไทยมีผู้ติดเชื้อน้อยจะเป็นการบอกว่าจะทำแผนต่อไปอย่างไร ซึ่งมีการจำลองเหตุการณ์ทั้งหนัก - กลาง - เบา ในการเตรียมรับมือ

ขณะที่กรณีคนไทยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยประสานกับไทยแลนด์ทีม ซึ่งจะมีแพทย์ซึ่งอยู่ในสถานทูตออกใบรับรองแพทย์ให้คนไทย โดยไม่ต้องไปซื้อประกันวงเงินกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กรณียารักษามีจำนวนไม่เพียงพอนั้นยาที่ใช้รักษาจะใช้ ยาจำนวน 70 เม็ดต่อคนไข้ 1 คน ซึ่งขณะนี้มียารวมกว่า 200,000 เม็ดแล้ว ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษาซึ่งรักษาโดยใช้วิธีการประคับประคอง โดยในผู้ป่วยอาการปานกลาง-หนักจึงจะใช้ยาในการรักษา

ขณะที่เรื่องเตียงคนไข้อาการหนักเท่านั้นจึงจะอยู่ในระบบไอซียู ขณะที่ระดับเบาจะสามารถอยู่โรงพยาบาลทั่วไปได้ นอกจากนี้ยืนยันว่า แพทย์ไทยมีมาตรฐานสามารถปรึกษาอาจารย์แพทย์ได้ รวมถึงขอความเมตตาและความเห็นใจแทพย์และพยาบาลเพราะต้องรับทุกโรคทั้งไวรัส COVID-19 และอื่น ๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่มีผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาจำนวนมาก พร้อมขอเน้นย้ำ 1.สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยโชคดีที่เป็นเมืองร้อน 2.พฤติกรรม ต้องทราบว่าติดเชื้ออย่างไรแพร่เชื้ออย่างไร คือ ไอ จาม รดกันในระยะใกล้ และอย่าอยู่ในชุมชน และการสัมผัสด้วยโต๊ะที่เปื้ออน และยืนยันว่า 3.ไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการประกาศเลื่อนวันหยุดช่วงสงกรานต์เพื่อลดการเดินทางและป้องกันการแพร่เชื้อCOVID-19 ซึ่งมีข้อมูลว่าประชาชนจำนวนมากได้จองตั๋วเดินทางทั้งรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ซึ่งมีมาตรการในการช่วยเหลือ โดยบริษัทขนส่งจำกัด คืนเงินได้ 100 % ที่เดินทางในช่วงวันที่ 18 มี.ค.- 30 เม.ย. สามารถเลื่อนตั๋วได้ภายใน 90 และก่อนเดินทาง 1 วัน การรถไฟแห่งประเทศไทย หากซื้อตั๋วก่อนวันที่ 18 มี.ค.จะคืนเงิน 100 % โดยขอคืนได้ก่อนวันเดินทาง 3 วัน และหากไปในวันเดินทางคืนได้ 50 %

การบินไทยและไทยสมายล์ จะสามารถคืนตั๋วโดยสารซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข หากสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินในเส้นทางเดิมจะไม่เสียค่าธรรมเนียม หากเปลี่ยนเส้นทางจะไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างและภาษี หากต้องการเปลี่ยนชื่อ จะเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท ขณะที่ตั๋วโดยสารหมู่คณะแจ้งยกเลิกได้โดยค่ามัดจำภายใน 1 ปี สามารถใช้ได้

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ใน 2 กลุ่ม สายการบินได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยลดค่าแลนด์ดิ้ง และค่าจอด โดยลดลง 50 % และการบริการทางอากาศ เช่น บ.วิทยุการบิน ลดค่าบริการ 50 % และค่าเช่าในอาคารสนามบินลดให้ 50 % และผ่อนผันการไม่ตัดสิทธิ์ในการจัดสรรเวลากรณีที่ไม่มีความพร้อมในการบิน ขณะที่การชำระหนี้ของสายการบินปรึกษา ธปท.และหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย และรับรองสิทธิสายการบินที่จะปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงที่ติดเชิ้อ COVID-19 ซึ่งสายการบินปฏิเสธได้จากเดิมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง