คุมเข้มผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ลดเสี่ยง COVID – 19

สังคม
20 มี.ค. 63
17:07
385
Logo Thai PBS
คุมเข้มผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ ลดเสี่ยง COVID – 19
กรมอนามัย ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 สำหรับผู้ให้บริการการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค

วันนี้ (20 มี.ค.2563) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับผู้ให้บริการ การขนส่งสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยให้ถือปฏิบัติใน 2 ส่วนหลัก คือ

ภาพ : กรมอนามัย

ภาพ : กรมอนามัย

ภาพ : กรมอนามัย

 

ส่วนที่ 1 การควบคุมเกี่ยวกับสุขลักษณะ

ในส่วนอาคารสถานที่ให้ทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีจุดเสี่ยงที่มีผู้โดยสารใช้ร่วมกันให้เพิ่มความถี่ ทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เช่น เคาต์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร ปุ่มกดตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม มือจับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำยาทำความสะอาด ส่วนการจำหน่ายอาหารในบริเวณสถานีขนส่งสาธารณะนั้น ผู้จำหน่ายอาหารต้องป้องกันตนเอง และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เช่น ล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่และน้ำ มีการปกปิดอาหารใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร

ภาพ : บขส.

ภาพ : บขส.

ภาพ : บขส.


ขณะปฏิบัติงานหากมีอาการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้หยุดงานและพบแพทย์ทันที มีการทำความสะอาดโต๊ะอาหารด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกครั้งหลังมีผู้มาใช้บริการ รวมถึงล้างภาชนะอุปกรณ์หรือสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสาร เช่น บริเวณทางเข้าอาคารผู้โดยสาร อุปกรณ์จำหน่ายตั๋ว ราวจับ ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น และทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรค ได้แก่ โถส้วม ที่กดชักโครกหรือโถปัสสาวะ สายฉีดชำระ กลอน หรือลูกบิดประตู ฝารองนั่ง ฝาปิดชักโครก ก๊อกน้ำ อ่างล้างมือ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด

ส่วนที่ 2 ด้านยานพาหนะและผู้ปฏิบัติงาน

การทำความสะอาดยานพาหนะ เช่น รถโดยสาร รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า รถไฟ เป็นต้น ให้ใช้น้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดในจุดที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ราวจับบริเวณประตู ที่จับเหนือหัวผู้โดยสาร เบาะนั่งและพนักพิงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่พักแขน ถาดรองวางอาหาร ปุ่มปรับระดับเบาะ ที่จับประตูห้องน้ำ เป็นต้น กรณีที่มีห้องน้ำให้บริการบนพาหนะ ต้องจัดให้มีสบู่สำหรับล้างมือ และกระดาษเช็ดมือในห้องน้ำให้เพียงพอ

ภาพ : บขส.

ภาพ : บขส.

ภาพ : บขส.


ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม ปลอกหมอน ต้องเปลี่ยน ทุกรอบที่ให้บริการและนำไปซักให้สะอาด หากเป็นรถโดยสารสาธารณะ ก่อนและหลังการให้บริการควรมีการเปิดหน้าต่าง เพื่อการถ่ายเทหรือระบายอากาศในรถ และสำหรับ ผู้ปฏิบัติงานต้องดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด มีการป้องกันตนเองโดยล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจล รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า โดยไม่จำเป็น หากมีอาการ ไข้ ไอ จาม เหนื่อยหอบ ให้หยุดงานและ ไปพบแพทย์ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดประกาศดังกล่าวได้ที่ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย http://laws.anamai.moph.go.th/main.php?filename=index 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง