ทางออก เมื่อโควิด-19 กระทบการโชว์ศิลปะ

ศิลปะ-บันเทิง
21 มี.ค. 63
19:30
2,094
Logo Thai PBS
ทางออก เมื่อโควิด-19 กระทบการโชว์ศิลปะ
สถานการณ์ไวรัสระบาด สะเทือนวงการศิลปะ จนอาร์ตแฟร์ระดับนานาชาติ ต้นปีนี้พับเก็บไป และกระทบถึงใครที่มีคิวแสดงงานต่างประเทศ แต่ในวิกฤตยังมีทางออก เมื่อวงการศิลปะหันมาใช้โลกออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มดีลงาน ขายงาน ซึ่งก็มีข้อดีข้อด้อยที่ต้องชั่งน้ำหนัก

ตัวอยู่ไทย แต่นิทรรศการในฮ่องกงเดินหน้าได้ เพราะ แพรว กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินสาวมาแรงสายวิดีโออาร์ต ดีลงานกับทีมผู้จัด Center for Heritage Art & Textile ผ่าน Skype และ E-mail พร้อมตรวจละเอียด ขั้นตอนการติดตั้ง และคุณภาพเมื่อชมผ่านจอ ขาดก็แต่การไปเปิดนิทรรศการเท่านั้น เพราะฮ่องกง มีการระบาดของโควิด-19

 

แพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์ยังทำให้ กวิตา ไม่ต้องทิ้งโอกาสเป็นศิลปินพำนักที่ฮ่องกงด้วยเช่นกัน เพราะสามารถค้นคว้า และสัมภาษณ์มุมมองนักเคลื่อนไหว และนักเศรษฐศาสตร์ ผ่าน Skype เพื่อสร้างศิลปะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แทนการไปลงพื้นที่ถึงฮ่องกงด้วยตัวเอง

เป็น Online Residency ได้มั้ย

" พอพูดกับทุกคนในวงการศิลปะ ทุกคนก็จะแบบ มันมีด้วยหรอ Online Residency เราแค่คิดว่า เราจะหาทางออกกับเรื่องนี้ยังไงดี การที่เราไม่ได้ไปเจอคนไม่ได้แปลว่าเราจะทำงานไม่ได้ เค้าก็ตอบกลับมาว่า จริงๆ มันก็เป็นไอเดียที่ดี โอเคเราทำเลย ค่า Artists' fee ทุกอย่างเค้าก็ยังให้กับเราอยู่ เพื่อให้เราทำโปรเจ็กต์นี้ต่อไป แต่ว่าเราทำจากที่เมืองไทยแทน "

 

 

การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้งานแฟร์ระดับนานาชาติ อย่าง Art Basel ฮ่องกง ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่โลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการเปิด Online Viewing Rooms ที่รวมศิลปะมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท จาก 231 แกลเลอรี่ทั่วโลกอวดโฉมบนเว็บไซต์ หนึ่งในนั้นคือ BANGKOK CITYCITY GALLERY จากไทย ที่ส่งผลงานคอลลาจและงานวิดีโอเสียดสีการเมืองของผู้กำกับหนุ่ม จุฬาญาณนนท์ ศิริผล ซึ่งข้อดีคือผลงานสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น หากที่ไม่อาจทดแทนได้คือประสบการณ์ชมศิลปะจากของจริง 

 

 

 

ส่วนกล่องใหญ่ที่เห็นนี้คือกล่องงานเครื่องประดับศิลป์ร่วมสมัย ATTA Gallery ส่งไปเที่ยวเยอรมนี แล้วตีกลับมา เพราะงานแฟร์สำคัญของวงการ FRAME 2020 ที่จะไปออกบูธ ยกเลิก สูญค่าขนส่งไปหลักแสน ยังไม่รวมค่าดำเนินการอื่นๆ

" พอโควิดเริ่มมา เราก็เริ่มกลัวแล้ว เพราะตัวเลขผู้ป่วยในไทยมากกว่าเยอรมนี ถ้าเราไป เราจะเข้าไปแฟร์ได้มั้ย เราจะโดยกักกันมั้ย แต่พอหลังจากนั้นไปไม่กี่วัน เยอรมนีมีผู้ป่วยมากกว่าเราแล้ว ทีนี้เราก็จิตตกไปอีกอย่าง ว่าเฮ้ย ถ้าชาวเยอรมันเป็นเยอะ ลูกค้าจะไปมั้ย แล้วถ้าเราไป เราจะปลอดภัยมั้ย ในที่สุดงานแฟร์ก็ยกเลิก " 

อตินุช ตันติวิท หัวเรือใหญ่ของ ATTA Gallery เล่าปัญหาที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ งานแฟร์ออนไลน์ครั้งแรกของ ATTA แม้จะไม่ตอบโจทย์งานเครื่องประดับศิลป์ ที่ผู้ชมต้องได้สัมผัส และลองกับร่างกาย หากตลอด 5 วัน ที่จัดนิทรรศการออนไลน์ ผลตอบรับกลับดีเกินคาด

ลูกค้าที่เข้ามาคลิกเนี่ย เขาไม่ได้เป็นกลุ่มลูกค้าที่จะไปงานแฟร์ด้วยซ้ำ แต่เขาก็ได้มีโอกาสเห็นงาน ถ้าเราเอางานไปโชว์ที่แฟร์เค้าก็อาจไม่ได้เห็นก็ได้ ก็ติดต่อมา แล้วขายงานได้ ก็ถือเป็นข้อดี จากนี้ก็คงเน้นขายออนไลน์

 

ไม่เพียงแค่ศิลปินไทยไปเมืองนอกยาก แต่กลุ่มศิลปินป็อปอาร์ตจากญี่ปุ่น Three ที่เตรียมแสดงงานที่ Subhashok the Arts Centre ก็ถูกยกเลิกไฟล์ท โชคดีที่ได้คิวเรเตอร์ และทีมงานที่เข้าใจ ติดตั้งงานที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น หากต้องยอมถอดศิลปะบางชิ้นที่ซับซ้อน ติดตั้งยากออกจากนิทรรศการ THREE IS A MAGIC NUMBER 15: HYPERSWEET และหอศิลป์ยังจัดการนำชม แทนพิธีเปิด เลี่ยงการรวมคนจำนวนมาก เป็นช่วงเวลายากๆ ที่ทุกหน่วยในวงการศิลปะต้องปรับตัว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง