วิกฤตศรัทธารัฐบาล จาก "หน้ากากฯ" ถึง "ปิดเมือง"

Logo Thai PBS
วิกฤตศรัทธารัฐบาล จาก "หน้ากากฯ" ถึง "ปิดเมือง"
การดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รัฐบาลและฝ่ายต่าง ๆ ย่อมคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติจึงใช้มาตรการจากเบาไปเข้มข้นเข้มข้น แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นปัญหาเก่าอย่างหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขอปฏิเสธ ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย หรือกิจการใดของผู้ประกอบการเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ทั้งสิ้น ขอปฏิเสธ ว่าไม่รู้จัก ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่ได้ผูกพัน ไม่ได้ใกล้ชิด ไม่ได้มีมิตรคนใดไปเกี่ยวข้องกับกิจการหน้ากากอนามัยของบริษัทใดทั้งสิ้น” มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ 

เป็นความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง หลังจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานร้องเรียนต่อรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อ้างว่าพบหลักฐานบริษัทผลิตหน้ากากอนามัยและที่ปรึกษาหญิงของ รมว.พาณิชย์ เกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากและส่งไปขายต่างประเทศ เจ้าตัวเชื่อว่านี่คือต้นตอสำคัญที่ทำให้หน้ากาอนามัยในประเทศขาดตลาดอย่างหนัก ราคาพุ่งสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัว ไม่สามารถหาซื้อได้ในราคาควบคุม 2.50 บาท

ทั้งที่เมื่อปลายเดือนมกราคม รมว.พาณิชย์ ลงตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย และระบุสำรองสินค้าไว้ถึง 200 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ได้นาน 4-5 เดือน รวมถึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันทีหากจำเป็น แต่คล้อยหลังไม่นานก็เกิดปัญหาขาดแคลนต่อเนื่องหลายสัปดาห์จนถึงทุกวันนี้


ไม่อยากให้ตื่นตระหนกและไม่ควรซื้อเพิ่มมาเก็บไว้ใช้ กลัวว่าจะขาดตลาด เพราะถ้าทุกท่านยิ่งตื่นตระหนก ซื้อมาเก็บไว้ก็จะยิ่งทำให้ของขาด กระทรวงพาณิชย์ให้ความมั่นใจว่าจะสามารถจัดผู้ผลิตให้ผลิตทันความต้องการใช้โดยต่อเนื่องและไม่ขาด ตอนนี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนว่าถ้าซื้อไปใช้ได้ในอัตราปกติ” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ (30 ม.ค.)


ผลกระทบไม่ได้เกิดกับประชาชนเท่านั้น แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ด่านตรวจคนเข้าเมือง หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้าที่ต้องรับความเสี่ยงไวรัสก่อโรค COVID-19 ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เรื่องนี้กัดกร่อนความเชื่อมั่น ที่แม้แต่ผู้สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บางคนยังยอมรับถึงความรู้สึก “จุกอก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นของวิกฤตความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการรับมือกับ COVID-19
เพราะเมื่อรัฐบาลย้ำว่าหน้ากากอนามัยกับเจลล้างมือไม่ขาดตลาด แต่สุดท้ายกลับหาซื้อยากและราคาสูง

ต่อมาเมื่อรัฐบาลรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ กลับเกิดข้อกังขา กล่าวหาการปกปิดตัวเลขที่แท้จริง

ต่อมาเมื่อรัฐบาลยืนยันมาตรการคัดกรองคนเข้าเมืองเข้มข้น ผู้คนบางส่วนกลับไปเชื่อถือข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์

ต่อมาเมื่อรัฐบาลขอความร่วมมืออย่ากักตุนสินค้า ก็เกิดปรากฏการณ์คนแห่ไปซื้อของอุปโภคบริโภคมาเก็บไว้

ต่อมาเมื่อรัฐบาลย้ำว่าการระบาดในประเทศยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ก็เกิดคำถามข้อสงสัยถึงหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนด

ต่อมาเมื่อรัฐบาลยืนยันสถานการณ์ขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องปิดเมือง ก็เกิดเสียงเรียกร้องในทางตรงข้ามที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ และบางสุ้มเสียงก็ย้อนถามรัฐบาล ด้วยต้นตออย่างปัญหาหน้ากากอนามัย

ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ นับเป็นสิ่งสำหรับที่นักการเมืองควรมี เพราะเมื่อมีมาก หากจะพูดสิ่งใด ผู้คนพร้อมจะเชื่อถือแต่หากมีน้อย หากจะพูดสิ่งใด ย่อมอาจถูกตั้งแง่ร้าย

หรือปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล กรณี COIVD-19 นี้ อาจต้องกลับไปแก้ไขที่จุดเริ่มต้น อย่างหน้ากากอนามัย ว่าใครทำให้มันหายไปจากตลาด หายไปจากมือทีมแพทย์และประชาชน

เรื่อง จตุรงค์ แสงโชติกุล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง