นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19 ขั้นสูงสุด

การเมือง
24 มี.ค. 63
14:17
68,850
Logo Thai PBS
นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุม COVID-19 ขั้นสูงสุด
นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่มวันที่ 26 มี.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ยกระดับดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

วันนี้ (24 มี.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงสถานการณ์แก้ปัญหาสถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า รัฐบาลได้ติดตามและหามาตรการช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ รัฐบาลพิจารณาจะประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อยกระดับในการดำเนินการ และจะยกระดับให้ศูนย์ COVID-19 ให้เป็นหน่วยงานในการดำเนินการและข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตั้งชื่อ ศอฉ.โควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหา COVID-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ศอฉ.โควิด-19 ซึ่งจะมีคณะทำงานสอดประสานกัน โดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ประกาศไว้เดิม หรืออาจต้องมีการปรับปรุงแก้

ทั้งนี้ จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ ศอฉ.โควิด-19 โดยตนเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวงมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เป็นการบูรณาการในการบริหารงานครั้งนี้ การทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุม ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอรายงานสถานการณ์ หากมีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม



พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกำหนดเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ ว่าจะทำงานกันอย่างไร ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่ทุกคนอยากทราบว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งข้อกำหนดนั้นสามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ดังนั้นระยะที่ 1 ที่จะประกาศคือ การทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือหรือบังคับในเรื่องใดบ้าง

ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไร จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม

นายกรัฐมนตรี ยังขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล โดยจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น และมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข คมนาคม ต่างประเทศ ที่จะแถลง นอกจากนี้จะมีช่องทางให้ประชาชนสอบถาม และทาง ศอฉ.จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละวันให้ประชาชนทราบ จึงขอให้ฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้ COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง