สำรวจตัวเองช่วง Work From Home คุณกำลังเครียดอยู่หรือไม่ ?

สังคม
27 มี.ค. 63
14:47
2,249
Logo Thai PBS
สำรวจตัวเองช่วง Work From Home คุณกำลังเครียดอยู่หรือไม่ ?
บริษัทและสถานศึกษาหลายแห่ง เริ่มให้พนักงานและนักเรียน นักศึกษาทำงานที่บ้าน-เรียนออนไลน์ ส่งผลให้หลายๆ คน ที่ไม่เคยมีประสบการณ์อาจต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์จนเกิดเป็นความเครียดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จิตแพทย์แนะวิธีสำรวจความเครียดของคุณในช่วง Work from Home

วันนี้ (27 มี.ค.2563) การจราจรที่แออัดเริ่มบางตา หลายคนเริ่มทำงานจากที่บ้าน และเรียนผ่านออนไลน์ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อแล้วล่าสุด 1,136 คน และกระจายไป 52 จังหวัดทั่วไทย

การปรับตัวจากกิจวัตรประจำวันในทันที ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้หลายคนเริ่มมีอาการวิตกกังวล โดยอาจก่อตัวจากความเครียด ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ นายชาญชัย  ประทีปวัฒนะวงศ์ คอนเทนต์เมเนเจอร์สื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งเริ่มทำงานที่บ้านมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์

กิจวัตรประจำวันหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ตื่นนอนในเวลา 08.00 น.แล้วต้องออกจากบ้านเพื่อฝ่าผู้คนที่อัดแน่นในรถไฟฟ้าไปทำงาน ในวันนี้สามารถเปลี่ยนเวลานั้นไปทำอาหาร ชงกาแฟดื่มได้อย่างสบายใจ

การทำงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงจนถึงค่ำ ก็ไม่ต้องเร่งรีบอย่างที่เคยเป็น แต่สามารถทำได้เรื่อยๆ หยุดพักบ้าง แต่เป้าหมายคือ งานต้องเสร็จ เมื่อพูดถึงการทำงานเพียงอย่างเดียวนายชาญชัย บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "มันดีมาก" แต่หากพูดถึงการใช้ชีวิตแล้ว เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 ของการทำงานที่บ้าน ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้น

นายชาญชัย เล่าว่า ความรู้สึกคิดถึงออฟฟิศและเพื่อนร่วมงานจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-5 ของการทำงานที่บ้าน แต่สิ่งที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนจนเริ่มเครียดจริงๆ คือ ประกาศปิดห้างสรรพสินค้า และสนามกีฬา ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ขาดไม่ได้ในทุกวัน 

ผ่านมา 1 สัปดาห์เริ่มรู้สึกอึดอัด หงุดหงิด อยากหาคนคุยด้วย จนเริ่มรู้สึกว่าเครียด เพราะสถานที่ที่ไม่ได้ไปทั้งออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า สนามม้า สนามธนู ล้วนเป็นสถานที่ที่จะได้พูดคุยกับเพื่อน แต่วันนี้ไปไม่ได้แล้ว


เมื่อเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ก็เริ่มตัดสินใจปรับตัว โดยการโหลดเกมมาเล่น หาภาพยนตร์มาดู และหยิบหนังสือเก่าๆ ที่อ่านไม่จบกลับมาอ่านเพื่อคลายเครียดก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ก็ยังกังวลว่าในระยะยาวจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ต้องทำเป็นประจำ แต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้ออกกำลังกายเลยสักวัน โดยคาดว่าอีกไม่นานคงต้องมองหาเส้นทางวิ่งใกล้ๆ บ้านที่ไม่มีคนพลุกพล่านเพื่อจะได้ออกไปวิ่งผ่อนคลายบ้าง

พักผ่อนให้เพียงพอ - หาคนคุยด้วยช่วยลดเครียด

ด้าน นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องทำงานที่บ้านหรือเรียนผ่านออนไลน์ว่า โดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใหม่ๆ เช่น การทำงานอยู่บ้านนั้น คนส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ค่อนข้างยากในช่วงแรก และรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบาย เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีเรื่องข่าวต่างๆ รวมถึงการปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นการจำกัดพื้นที่ของหลายๆ คน จึงทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้เช่นเดียวกัน สำหรับวิธีการสำรวจตัวเองว่าอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้จากทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ในส่วนของสุขภาพกาย สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจมีอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น ความดันขึ้น นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ มีอาการปวดคอ ปวดไหล่ เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดจะส่งผลกระทบทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งจนรู้สึกปวดเมื่อยได้


ส่วนการสังเกตจากสุขภาพจิต หากเป็นคนที่มีโรคประจำตัวต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ตนเอง และต้องกินยาให้ตรงเวลา เพราะเมื่อทำงานที่บ้าน อาจทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไปจนลืมรับประทานยาได้ 

ขณะที่คนที่ไม่มีโรคประจำตัวให้สังเกตอารมณ์ตนเองว่ามีความกังวลหรือไม่ ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้จนทำให้มีปากเสียงกับคนใกล้ชิดหรือเปล่า รวมไปถึงการไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออยากเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ต้องการพูดคุยกับใครหรือไม่

หากสำรวจตนเองจนพบว่าเริ่มมีภาวะเครียดแล้ว ก็ควรรีบแก้ไขปัญหา โดยการพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่สามารถระบายเรื่องราวต่างๆ ได้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้พบหน้ากันแต่ก็ยังสามารถพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์ได้ หรือโทรศัพท์ปรึกษาสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต


นอกจากนี้ การรับข่าวสารให้เป็นเวลาก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการลดความเครียดลงได้ โดยอาจแบ่งเวลารับข่าวสารให้น้อยลง ไม่รับข่าวสารที่เคร่งเครียด เช่น การติดตามข่าวไวรัส COVID-19 ไปพร้อมกับการทำงาน ที่สำคัญ คือ การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ลดความเครียดลงได้มาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง