คนแรก! นนทบุรีตาย COVID-19 หมอกังวล 18% ไม่แสดงอาการ

สังคม
29 มี.ค. 63
12:25
6,749
Logo Thai PBS
คนแรก! นนทบุรีตาย COVID-19 หมอกังวล 18% ไม่แสดงอาการ
ไทยป่วย COVID-19 อีก 143 คน ตัวเลขสะสม 1,388 คน นนทบุรีเสียชีวิต 1 คน เชื่อมโยงกลุ่มสนามมวย ขณะที่หมอยอมรับพบผู้ป่วย 18.4% ส่วนใหญ่วัยทำงานไม่แสดงอาการป่วยจึงเป็นพาหะ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมกำชับคุมเข้มมาตรการป้องกัน

วันนี้ (29 มี.ค.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกใน 196 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค.–29 มี.ค.นี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 640,000 คน เสียชีวิตวันเดียว ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 67,000 คน
เสียชีวิต 29,000 คน

ทั้งนี้ขอย้ำว่าสถานการณ์ยังไม่ดี โดยสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 116,050 คน ป่วยใหม่เพิ่ม 21,625 คน รองมาเป็นอิตาลี 92,472 คน เสียชีวิต 10,023 คน ส่วนจีน 81,394 คนเสียชีวิต 3,295 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 34 ของโลก โดยพบผู้ป่วยเพิ่ม 143 คน รวมผู้ป่วยสะสม 1,388 คน อาการหนัก 17 คน กลับบ้านแล้ว 100 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิต 7 คน โดยผู้เสียชีวิตคนล่าสุดอยู่ใน จ.นนทบุรี อายุ 68 ปี มีประวัติเชื่อมโยงกับสนามมวย ขณะเดียวกันตัวเลขยังพบมีผู้ป่วยใน กทม.จำนวน 641 คน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 82 คน ภาคกลาง 135 คน และอื่นๆ 530 คน

 

อ่านข่าวเพิ่ม หมอวิเคราะห์ใครพาหะพาเชื้อ COVID-19 กลับบ้าน

คนป่วยไม่แสดงอาการ-ทุกคนเสี่ยงติดเชื้อ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุดคือ กทม.-ปริมณฑล ชลบุรี ภูเก็ต สระแก้ว และ 4 จังหวัดภาคใต้คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เนื่องจากยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบวันที่ 19-28 มี.ค.นี้


พบว่าร้อยละ 18.4 ของผู้ป่วยติดเชื้อไม่แสดงอาการ และแสดงอาการ 81.6 และส่วนใหญ่ กลุ่มวัยทำงาน จึงเป็นผู้ที่นำพาหะ ดังนั้นเท่ากับว่าทุกคนในประเทศ ไทยมีความเสี่ยง ส่วนผู้ป่วยเป็นชายร้อยละ 61.1 และหญิงร้อยละ 38.9

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มกราฟที่บ่งชี้ว่ายังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งจากตัวเลขจุดตัดที่วิเคราะห์ ชัดเจนว่าหลังจากเริ่มมีผู้ป่วยจากกลุ่มสนามมวย สถานบันเทิง จากตัวเลขหลัก 10 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็นหลัก 100 คนจนทำให้ตัวเลขสะสมทั่วประเทศแล้ว จากการประกาศของ กทม.ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมทั้งแรงงานต่างชาติ

ผลของการติดเชื้อ 5-7 วัน ซึ่งหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะครบ 7 วัน จึงมีแนวโน้มที่ตัวเลขคนป่วยจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากจะให้ได้ผลลดการแพร่เชื้อคนไทยร้อยละ 90 ของไทยต้องร่วมมือกันให้มากที่สุด

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยใหม่ 19-28 มี.ค.ที่ผ่านมา กระจายตัวไปทั่วประเทศ ทุกคนในประเทศไทยมีความเสี่ยง ขอให้ช่วยประเทศด้วยการอยู่ที่บ้าน หรือรักษาที่ รพ. ส่วนคนที่อาการเล็กน้อย ได้มีการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย เข้ามารักษาในสถานที่ดังกล่าว

ย้ำว่ารวมกันเราติดหมู่ แยกกันอยู่เรารอด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระจายไปหลายจังหวัดในประเทศไทย

ส่วนการพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องให้ดูรายละเอียดการแพร่ระบาดของเชื้อ และยังต้องมีการขยายเวลาในการดำเนินการในระดับพื้นที่ และให้มีการรายงานในระดับจังหวัดแบบรายวัน

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

ผู้ป่วยอาการหนัก 17 คนเฝ้าระวังใกล้ชิด 1 คน

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 11 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 143 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 คน ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 คน กลุ่มสถานบันเทิง 15 คน กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 คน และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 คน

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 คน ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 คน กลุ่มผู้ทำงานอาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 คน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 คน

และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 คน

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ:กระทรวงสาธารณสุข

 

ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 คน มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 คน ใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต สรุปวันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 111 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,270 คน เสียชีวิต 7 คน รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย

ผู้ป่วยที่อาการวิกฤต 17 คน ร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ขณะนี้ประไทยมีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 4.7 ล้านคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

57 จังหวัดพบคนป่วย COVID-19 เพิ่ม 1,245 คน

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง