ธุรกิจโรงแรม ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

เศรษฐกิจ
31 มี.ค. 63
13:22
12,187
Logo Thai PBS
ธุรกิจโรงแรม ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
ธุรกิจโรงแรมวันนี้ยอดเข้าพักแทบจะเป็นศูนย์ ในภาวะการห้ามเดินทาง การท่องเที่ยว พนักงานนับล้านคน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประกันสังคม วัคซีนเศรษฐกิจวันนี้ จะมาสะท้อนความเดือดร้อนของคนในอุตสาหกรรมนี้

วัคซีนเศรษฐกิจวันนี้ ไทยพีบีเอสสำรวจธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สร้างเงินให้คนไทย ปีละกว่าร้อยละ 17 ของ GDP ปีนี้เรียกว่าล้มไม่เป็นท่า การงดเดินทาง ทำให้ช่วงแรกสายการบินกระทบรุนแรง และถัดมาคือ ธุรกิจโรงแรม หนักมาตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มมีการระบาดแพร่กระจาย และห้ามการเดินทางท่องเที่ยวจากกลุ่มชาวจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ จนมาถึงวันนี้ที่ในประเทศมีการจำกัดเดินทางข้ามเขต คนไม่เดินทาง คนไม่เข้าพัก ปัญหาที่ตามมา

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เป็นตัวแทนของ 6 องค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยื่นหนังสือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดโรงแรมในพื้นที่ 60 วัน เพราะสงสัยว่ามีพนักงานบางคนติดเชื้อ COVID -19 ไม่ต้องการให้โรงแรมเป็นแหล่งแพร่เชื้อ และการเปิดกิจการโรงแรมทั้งที่คนพักน้อยยังเป็นภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น

แม้เหตุผลเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับการป้องกันการระบาดของโรค แต่น้ำหนักการร้องขอจะเกี่ยวเนื่องกับภาระต้นทุนของกิจการและการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ด้วยกลไกประกันสังคม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวกระบี่ที่ร้องขอให้มีคำสั่งปิดโรงแรมที่พักเช่นกัน รวมถึงสมาคมโรงแรมไทยที่เรียกร้องไปที่นายกรัฐมนตรี มาถึงตรงนี้อาจเกิดข้อสงสัยว่าเหตุผลอะไรกันแน่ที่ทำให้เอกชนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐมีคำสั่งให้ปิดกิจการโรงแรมชั่วคราว

ปัจจุบันไทยมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั่วประเทศ 32,564 แห่ง คิดเป็นจำนวน ห้องทั้งหมดกว่า 1.2 ล้านห้อง ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายน่าจะมีอีกเท่าตัว ตอนนี้คาดว่ากว่าร้อยละ 95 ของโรงแรมทั้งหมดหรือคิดเป็นกว่า 30,000 แห่งได้รับผลกระทบ

ถ้ายังเปิดทำการห้องพัก 1 ห้องใช้พนักงานโรงแรม 1.3 คน พนักงานโรงแรมทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านคน ส่วนใหญ่รับค่าจ้างในระดับต่ำ จะไม่มีรายได้เพราะการระบาดของ COVID-19

จากการพูดคุยกับกรรมการสมาคมโรงแรมไทย โจทย์ขณะนี้ของธุรกิจโรงแรม คือ ทำอย่างไรจะรักษาลูกจ้างเอาไว้ได้ โรงแรมส่วนใหญ่จำนวนเข้าพักลดลง ขาดรายได้มาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ช่วงที่ผ่านมาบางแห่งใช้วิธี ให้พนักงานหยุดงานไม่รับค่าจ้าง หรือ Leave Without Pay แบ่งสลับหยุดหรือหยุดบางส่วน โรงแรมที่มีกำลังจ่าย จะใช้วิธีให้พนักงานหยุดงาน แต่โรงแรมจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการคือ ประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราว สามารถลงทะเบียนเพื่อปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินการ ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของ ค่าจ้าง ไม่เกิน 7,500 บาท ตามกฎหมายระบุให้ 60 วัน แต่สมาคมโรงแรมประเมินว่าผลกระทบจะยาวนานขอขยายเป็น 180 วัน

กรณีกรุงเทพมหานคร ประกาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาสั่งปิดส่วนของห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม พนักงานเฉพาะส่วนนั้นเข้าข่ายรับความช่วยเหลือของประกันสังคม แต่ไม่ใช่การปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวทั้งหมดพนักงานส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้รับความคุ้มครอง ขณะกลุ่มพนักงานโรงแรมและผู้ได้รับผลกระทบรณรงค์ผ่าน #จ่ายเงินแล้วได้อะไร สำหรับคนที่อาจเรียกว่าเป็นช่องว่างไม่ได้รับสิทธิ์ประกันสังคมในช่วงเวลานี้

ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งข้อความต่อๆ กัน ระบายความอัดอั้น เปรียบเทียบว่ากลุ่มรายได้อิสระ ได้ 5,000 บาทระยะเวลา 3 เดือน กลุ่มสถานประกอบการถูกสั่งปิดเข้าสิทธิ์ประกันสังคม แต่กลับมีบางคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์นี้

กลุ่มธุรกิจโรงแรมเดือดร้อนโดยตรงเหมือนสายการบิน มีบุคลากรภาคบริการมีจำนวนมากซึ่งหากหายไปจากระบบ และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดีขึ้นและการท่องเที่ยวฟื้นคืนมาไทยอาจเสียโอกาสหากบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งภาครัฐควรมีการกำหนดแผนให้ชัดเจนว่ามาตรการเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ส่วนใดกระทบบ้าง เพื่อให้มีการวางแผนจัดการ และกล้าตัดสินใจ

ขณะนี้ ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบทั้งหมด หากจะช่วยเฉพาะกลุ่มอย่างภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ ก็อาจพอมีเหตุผลที่จะช่วยเหลือ แต่อาจไม่ครอบคลุมข้อเรียกร้องทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง