เตือน! สร้างข่าวปลอมไวรัส วัน April Fool's Day เสี่ยงผิดกฎหมาย

อาชญากรรม
1 เม.ย. 63
07:10
3,268
Logo Thai PBS
เตือน! สร้างข่าวปลอมไวรัส วัน April Fool's Day เสี่ยงผิดกฎหมาย
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เตือนประชาชนโพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ในวันโกหก หรือ April Fool’s Day เสี่ยงโทษหนักจำคุก 2 ปี - ปรับ 40,000 บาท

วันนี้ (1 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษก ศบค. ได้ขอบคุณเฟซบุ๊กเพจ “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ที่ออกมาเตือนว่า ในวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวัน April Fool's Day ขอทุกคนอย่าเล่นโกหกเรื่องไวรัส COVID-19 โดยในเพจ อีเจี๊ยบ เลียบด่วน ระบุว่า

"ห้ามโพสต์โกหกว่า ตัวเองติดเชื้อ พบคนติดเชื้อที่นั่น ที่นี่ หรือโกหกเรื่องเชื้อไวรัสเด็ดขาด เพราะตอนนี้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การที่โพสต์โกหกเรื่องการติดเชื้อ ถือเป็นการสร้างความตื่นตระหนกในสังคม โทษหนักกว่าในเวลาปกติเยอะ"

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเตือนประชาชนว่า April Fool's Day หรือ "วันโกหก" เมื่อถึง วันโกหก ที่ไม่ขำ เสี่ยงมีโทษหนัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามพูด ห้ามแชร์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ในหลายประเทศในวันที่ 1 เม.ย.ของทุกปี โดยผู้คนจะเล่นมุกตลกและเรื่องหลอกลวงต่อกัน มุกตลกและคนที่ถูกหลอกจะเรียกว่าเป็น "คนโง่เดือนเมษา" ตามสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกลวงในวันที่ 1 เม.ย. และออกมาเฉลยในวันต่อมา เป็นเรื่องที่ต่างประเทศทำกัน

ประเทศไทยทำไม่ได้นะครับ อย่าเผยแพร่ อย่าแชร์ข่าวลวง ข่าวเท็จ ผิดกฎหมายโทษหนัก เตือนกันด้วยความห่วงใย

สร้างข่าวปลอมผิดทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ก็ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  Anti-Fake News Center Thailand โดยระบุว่า ในหลายๆ ประเทศนับวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปีเป็นวันโกหก (April Fool's Day) สำหรับในประเทศไทยนั้นการโพสต์ข้อความ ข่าวสารที่เป็นเท็จ หรือแชร์ข่าวปลอม จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้

1. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2560 มาตรา 14

วางหลักว่า ผู้ใดกระทำโดยทุจริตหรือหลอกลวง นําเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลมีความบิดเบือน เป็นความจริงบางส่วน หรือไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ส่งต่อมีอัตราโทษเท่ากัน

2. พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 9 (3)

วางหลักว่า กรณีมีความจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว ให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจออก ข้อกำหนด ดังนี้ ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสื่อ อื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทั่วราชอาณาจักรมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งนี้ หากต้องการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสข่าวปลอม สามารถแจ้งเรื่องเข้ามาได้โดยตรงผ่าน ช่องทาง Inbox ของเพจ Anti-Fake News Center นี้ ได้ที่ลิ้งค์นี้ m.me/AntiFakeNewsCenter

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง