ชุมชนเมืองใหญ่ สู้ชีวิตจาก COVID-19 ระบาด พ้นจากเศรษฐกิจทรุด

สังคม
1 เม.ย. 63
11:20
843
Logo Thai PBS
ชุมชนเมืองใหญ่ สู้ชีวิตจาก COVID-19 ระบาด พ้นจากเศรษฐกิจทรุด
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ ที่นำไปสู่การออกคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. ให้ปิดสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ชาวชุมชนเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องสู้ชีวิตไปกับการระวังโรคระบาด พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดลง เพราะถูกเลิกจ้างงาน

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจสอบถามความเป็นไปของผู้คนที่อยู่ในชุมชนแออัด แขวงทุ่งสองห้อง ย่านเขตหลักสี่ กทม.

“ชุมชนฤาษีลิงดำ” ชุมชนใหญ่ มีประชากรอาศัยมากกว่า 350 ครัวเรือน กว่า 2,400 คน และถ้าแยกกลุ่มเสี่ยงอ่อนไหวตามที่ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ จะพบว่า ชุมชนนี้ มีกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 60 คน และอายุ 70 ปีขึ้นไปประมาณ 30 คน

 

นี่เป็นข้อมูลของ ลัดดาวัลย์ คงวงษ์ รองประธานชุมชนฯ ผู้คนที่นี่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอาซีพตั้งแต่แม่บ้านตามสถานที่ต่าง, รับจ้างเลี้ยงเด็กรับจ้างซักผ้า เป็นลูกจ้างร้านค้านอกพื้นที่ตามห้าง หรือ สถานประกอบการต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร บ้างเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง เปิดร้านขายของชำ ส่วนผู้ชายก็ตะเวนรับจ้างทั่วไป น้อยคนจะทำงานในบริษัท

ให้ข้อมูลที่ดี ชุมชนลดเสี่ยงแพร่เชื้อ

เราชวนพูดคุยแบบรักษาระยะห่างระหว่างกัน จนถึงคำถามที่เราสนใจว่า อะไรเป็นจุดแข็ง ที่ทำให้การอยู่รวมตัวกันมาก ๆ ในชุมชนแบบนี้ แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในชุมชน

ลัดดาวัลย์ตอบว่า น่าจะเป็นเพราะผู้นำชุมชน ได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลลูกบ้านเป็นระยะผ่านเสียงตามสายเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง โดยส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ลงพื้นที่แนะนำข้อมูลวิธีปฏิบัติตัวให้คนในชุมชนรับทราบ ทั้งกินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ และดูแลตัวเองเมื่อต้องออกนอกพื้นที่ชุมชน และปฏิเสธไม่ได้ว่า มีนักการเมือง ทั้ง ส.ส.ปัจจุบัน และอดีต ส.ส. และทีมงานต่างลงพื้นที่นำหน้ากากอนามัย เจล และอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง มามอบให้คนในชุมชนเป็นระยะ

 

ชีวิตลำบากเพราะรายได้ลดลง

เราตระเวนเดินตามตรอกเล็กๆ ในชุมชน พบบ้านหลังหนึ่ง ขึ้นป้ายร้านรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า จึงชวนพูดคุยฟังเสียงสะท้อนของคนทำงานรับจ้าง

ตอนนี้ วันหนึ่งยังไม่ถึง 200 บาทเลย คนที่เคยมาส่งผ้าซัก ต่างก็ถูกเลิกจ้าง เขาก็ไม่มาส่งซักอีก ลำบากกันถ้วนหน้า

คำบอกเล่าของ ชญาดา ทิมมณีฉาย แม่บ้าน ที่รับจ้างซักรีดเสื้อผ้า ในช่วงสถานการณ์ปกติ ปีที่แล้วงานซักรีด 1 สัปดาห์ จะได้รายได้เฉลี่ย 700-1,000 บาท มีลูกค้าประมาณ 7-10 ราย แต่ตอนนี้ 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่ถึง 200 บาท เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์แล้ว และยิ่งหลังจากมีคำสั่ง กทม.ทะยอยปิดสถานที่ต่าง ๆ

ในวันที่ต้องอยู่ด้วยกัน 5 ชีวิต ในจำนวนนี้มีหลานวัยอายุต่ำกว่า 5 ปี 2 คน ชญาดายังหางานเสริมเพิ่มเติมช่วยช่วยค่าใช้จ่ายในบ้าน ลูกชายเพิ่งจบ ม.6 กำลังหางานพาสไทม์ แต่ในช่วงที่หลายสถานที่บริการต้องปิดชั่วคราวเพราะโควิด ก็ยังหาไม่ได้ และตระเวนหาสินค้าไปขายตามตลาดนัด

 

ส่วนลูกสาว 2 คน คนหนึ่งเพิ่งได้งานเป็น พนักงาน คอลเซนเตอร์ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สิ้นเดือน มี.ค.63 จะได้รับเงินเดือนเป็นเดือนแรก ส่วนอีกคนเพิ่งถูกเลิกจ้างจากร้านแห่งหนึ่งในห้างเดอะมอลล์งามวงศ์งาน จากที่เคยส่งเงินมาช่วยบ้านทุกๆ เดือน เดือนละ 3,000 บาท ล่าสุดหลังจากถูกเลิกจ้างแล้วเดือนนี้ ส่งมาให้ 1,500 บาท เป็นค่าเลี้ยงดูหลาน

หลายปีผ่านมา ชญาดายังได้รับงานเสริมทุกอย่าง เท่าที่จะมีคนจ้างให้ทำ ทั้งงานแม่บ้าน ตามสถานที่ทั่วไป, ขับรถจักรยานยนต์ รับลูก-หลานคนในชุมชน กลับจากโรงเรียน ซึ่งช่วงโรงเรียนเปิด จะมีรายได้เพิ่ม 1,200 บาทต่อเดือน (รับเด็ก 2 คน) และงานแม่บ้านทั่วไป ค่าแรงวันละ 300 บาท

ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ทำให้งานแม่บ้านรายวันหายไป ไม่มีใครจ้าง,งานรับส่งเด็กนักเรียนหายไป และงานซักรีดลดลงจนแทบไม่มีคนส่งซัก หลายสถานประกอบการที่ทะยอยปิดชั่วคราว มีผลต่อคนทำงานรับจ้างรายงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่รู้เลยว่า จะกลับมามีรายได้เหมือนเดิมอีกทีเมื่อไร

 

 

เมื่อถามถึงภาระหนี้และค่าใช้จ่าย นี่เป็นคำตอบที่เราประมวลมาได้
1.ส่งออมชุมชนโครงการบ้านมั่นคง เดือนละ 520 บาท ส่งมา 5 ปีแล้ว ตั้งใจจะส่งให้ครบตามที่กำหนด 25,000 บาท เพราะตั้งใจอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง (จ่ายทุกๆ 1-10 ของเดือน) ถ้าขาดส่ง ยังไม่ถึงขั้นมีปัญหา แต่จะต้องหาเงินมาส่งทบในเดือนถัดๆ ไป
2.ค่านม- อาหาร หลานที่เลี้ยงดู เช่น ค่านมผงกระป๋องละ 125 บาท เฉลี่ย 1 เดือน จะจ่าย 625 บาท, ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป 1 เดือน 465 บาท
3.ค่ากับข้าว 5 คนในครอบครัว ตกวันละ 150 บาท
5.ค่าไฟ 1,2000 บาท / เดือน (ก่อนนี้รับจ้างซักรีดจึงจ่ายค่าไฟมาก)
6.ค่าน้ำ เดือนละ 500 กว่าบาท

ยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากจากสถานการณ์โควิด เพื่อป้องกันคนในครอบครัว เช่น ค่าเจลล์-แอลกอฮอล ล้างมือ ตกเดือนละ 500 -600 บาท ซื้อตามออนไลน์ เน็ต . ลูกสาวเป็นผู้หาซื้อให้

สินค้าที่แพงขึ้นในช่วงนี้ เช่น ไข่ไก่ จาก 2 สัปดาห์ก่อนราคาเดิมแผงละ 90 บาท ตอนนี้เพิ่มเป็น 150 บาท (เบอร์ 0) หาซื้อตามตลาดนัด หรือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ไข่ไก่ 5 ใบ 20 บาท แต่ตอนนี้ 3 ใบ 20 ซึ่งเด็กเล็กที่บ้านจำเป็นต้องกิน

“ตอนนี้ ต้องให้กำลังใจกันและกัน ให้ทุกคนช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตโควิดนี้ไปได้ทุกคน” คำทิ้งท้าย ก่อนเราจากมา

 

 

ใกล้ชิด อย่างปลอดภัย

ภายในชุมชนฤาษีลิงดำ เราเดินเรื่อยๆ ไปตามตรอก ถึงบ้านหลังหนึ่ง ได้ยินเสียงเด็กๆ กำลังส่งเสียงร้องเล่นอยู่ในบ้านสนุกสนาน เราพบกับผู้ปกครองของเด็กทั้งสองคนในฐานะเป็นคุณตา

ถนัด แสงวิเชียร นักข่าวสังกัดกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ เขาบอกเล่าข้อมูลการดูแลหลานๆ และการรักษาระยะห่างระหว่างกันในครอบครัว ตามที่รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข แนะนำ

สำหรับผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องยาก เขากับภรรยา ใช้วิธีแยกกันนอนคนละชั้น แต่เวลากินข้าวก็กินร่วมกันโดยมีหลานๆ 2 คนร่วมด้วย แต่ใช้ช้อนกลาง แต่สำหรับการดูแลเด็กๆ ที่ยังเยาว์ การสัมผัสใกล้ชิด เป็นเรื่องจำเป็น แต่จะป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับหลาน หรือหลังจากกลับมาจากที่ทำงาน ก็จะเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อมาเล่นกับหลานๆ

สถานการณ์โควิด แม้เด็กๆ วัย 5 ขวบ จะไม่เข้าใจว่ามีอันตรายอย่างไร แต่คำพร่ำสอนของคุณตา เพื่อให้หลายๆ เข้าใจง่ายที่สุด คือการดูแลตัวเองให้ล้างมือบ่อยๆ เป็นกิจวัตรประจำวันในชีวิต ทำจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งการล้างมือก่อนและหลังกินข้าว , หลังออกจากห้องน้ำ, หลังวิ่งเล่นเสร็จ ฯลฯ เพื่อให้เด็กน้อยซึมซับไปสู่ชีวิตจริงประจำวัน และเมื่อคุณตาลองเทเจลใส่มือ เด็กๆ ทั้ง 2 คน สามารถทำท่าล้างมือได้อย่างคล่องแคล่ว

ร้านปิด ชีวิตเปลี่ยน

“ร้านอาหารตามสั่ง” เป็นอีกแห่งที่ทีมข่าวมาพบอยู่ในชุมชน เจ้าของร้านเป็นคุณป้าวัยเกือบ 70 ปี กำลังมือระวิงกับการทำข่าวกล่อง หลังจากร้านต้องงดบริการนั่งที่ร้าน ตามประกาศของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อลดความเสี่ยงจากการรวมตัวของผู้ค้น

 

แน่นอนว่า คนซื้อกลับบ้าน รายได้ที่เกิดขึ้นไม่เท่ากับ 2 ทาง ที่เคยให้ลูกค้านั่งกินที่ร้าน และสั่งกลับบ้าน จนรายได้หายไปกว่า 40-50 % ในช่วงสัปดาห์แรกที่เปลี่ยนรูปแบบ

ป้า เจ้าของร้าน บอกว่า แต่อย่างน้อยก็ยังดี ที่มีคนสั่งกิน ดีกว่าไม่มีคนสั่ง แต่จากร้านค้าตามสั่งที่ต้องมีไข่ เป็นเมนูหลักและเมนูประกอบ ยอมรับว่า ราคาไข่ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลต่อต้นทุนของร้านที่เพิ่มเติมไปด้วย ในขณะที่ราคาขายเท่าเดิมกล่องละ 30-40 บาท และมีแนวโน้มว่า วัตถุดิบเครื่องครัวที่ใช้ประกอบอาหารจะมีราคาเพิ่มขึ้นมาตามอีกในขณะนี้ เช่น น้ำตาลทราย, น้ำมันพืช ฯลฯ

หลายมือ หลากแบงค์ เซฟตี้ตัวเอง

“ร้านขายของชำ” เป็นอีกร้านที่เราชวนพูดคุยเรื่องพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนในช่วงที่ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 เราเจอเจ้าของร้านคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายเยอะ เพราะจากเดิมที่ลูกค้ามาเดินเข้ามาในร้านหยิบจับสิ่งของได้ทั่วไป

แต่วันนี้ เปลี่ยนเป็นวิธีให้ลูกค้าเข้าคิว เว้นระยะห่างกัน ยืนเฉพาะหน้าร้าน แล้วตะโกนสั่งว่าต้องการอะไร เจ้าของร้านจึงจะเดินไปหยิบส่งให้ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสจุดต่างๆ ภายในร้านซึ่งต้องป้องกันทั้งตัวเองและลูกค้าไปพร้อมๆ กัน

 

การหยิบจับธนบัตร เป็นอีกสิ่งที่เจ้าของร้านของชำระวังแม้เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การล้างมือ หรือ ใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือทุกครั้งหลังรับธนบัตร เพราะไม่รู้ว่าเงินเหล่านี้ ผ่านมือใครมาบ้าง

ลูกค้าบางคน ไอแค่กๆ ไม่ใส่หน้ากาก เราก็ตะโกนบอก ให้ไปหาหน้ากากมาใส่ ถ้าใครไม่เชื่อ มาหาอีก เราไม่ขายของให้เลย จนเขาต้องไปหามาใส่ เราทำแบบนี้ก็เพราะต้องการให้เขาปลอดภัย และเราก็ปลอดภัย อยู่ในชุมชนเดียวกันต้องช่วยกันดูแลกัน จะได้รอดกันทั้งชุมชน

ช่วยกันดูแลชุมชน

ก่อนกลับ เราพบกับอีกหลายคน ที่ออกมานั่งเล่นตามถนนตรอกชุมชน และสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด คือการ นั่งรักษาระยะห่างกันอย่างเข้าใจ บางคนก็หาวิธีป้องกันตัวเอง ด้วยการทำหน้ากากป้องกันน้ำลายกระเซ็นใส่หน้า ก็นำแผ่นใสในบ้าน ฟองน้ำ และหนักยาง มาทำเป็น หน้ากากกันกระเด็น (face shield) และยังทำเผื่อแผ่ไปถึงคนข้างบ้าน คนในชุมชน

รวมถึงอีกๆ หลายคน ต่างติดตามข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากการบอกเล่าปากต่อปากในชุมชน, การฟังเสียงตามสายของผู้นำชุมชน, การติดตามสื่อโทรทัศน์ และสื่อต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงเวลาที่หลายๆ โดนเลิกจ้างกระทันหัน และอีกหลายคนอยู่บ้านเพื่อตระเวนหางานรับจ้างทั่วไป ท่ามกลางความหวังว่า สถานการณ์โควิด ที่มีผลต่อสถานการณ์ปากท้องของพวกเขาด้วย จะคลี่คลายขึ้นโดยเร็ว และพวกเขาที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในชุมชน ก็พร้อมปรับตัว ปรับเปลี่ยนเพื่อร่วมมือกันลดความเสี่ยงโควิดตามกำลังที่พวกเขาจะทำได้อย่างเต็มที่

ภัทราพร ตั๊นงาม
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง