"ธนาธร" คาดทิศทางเศรษฐกิจไทย-โลกจากวิกฤติโควิด-19

การเมือง
2 เม.ย. 63
08:13
337
Logo Thai PBS
"ธนาธร" คาดทิศทางเศรษฐกิจไทย-โลกจากวิกฤติโควิด-19
อดีตหัวหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชี้ 3 มาตรการรับมือ"โควิด-19"ต้องออกแบบใช้อย่างสอดประสานจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด แนะผู้ประกอบการถือเงินสดอย่างน้อย 6 เดือนเลี้ยงธุรกิจ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในรายการ Mission To The Moon ซึ่งเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 การรับมือ และการเอาตัวรอดและเดินหน้าต่อไปของธุรกิจต่างๆ ตอนหนึ่งว่า

ถ้าดูจากการระบาดแล้ว ยังไม่ถึงจุดแย่ที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่พอเวลาเคลื่อนผ่านมา จุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดย้ายมาอยู่ที่ยุโรป และสัปดาห์นี้มาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่อย่าลืมว่ายังมีประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งตัวเลขยังไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือแถบอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ศักยภาพรับรองทางการแพทย์น้อยกว่าประเทศที่ระบาดไปแล้วเสียอีก

ซึ่งถ้าโรคไปประเทศเหล่านี้ ความเลวร้ายน่าจะมากขึ้น เพราะลักษณะการแพร่ระบาดนั้น แค่เหตุการณ์เดียวก็แพร่กระจายไปไกล แต่เหตุผลที่การแพร่ระบาดในประเทศเหล่านี้ช้ากว่า คือปัจจัยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่เขตเส้นศูนย์สูตร เป็นเขตร้อนชื้น ไม่เหมือนประเทศอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ซึ่งไวรัสกระจายไปได้เร็วกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ระบาด

ทั้งนี้มองว่า มาตรการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ต้องมีอยู่ 3 ส่วน ซึ่งถูกออกแบบทำงานอย่างสอดประสานกันไป ได้แก่ 1.มาตรการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 2.มาตรการ Social Distancing หลีกเลี่ยงเดินทางพบปะกัน และ 3.มาตรการเยียวยาด้วยวิธีการทางการคลัง ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกันถึงจะมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาที่ผ่านมา รวมถึงในเมืองไทยด้วย ทั้ง 3 มาตรการนี้ถูกออกแบบมาใช้คนละเวลา

ทำให้เกิดประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เช่น การเรียกร้องให้มี Social Distancing แต่ขณะเดียวกันไม่มีมาตรการรองรับกลุ่มคนที่เปราะบางสุดในสังคมอย่างแรงงานนอกระบบ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานรับเหมารายวัน คือ คนที่ค้ำจุนกรุงเทพฯ ให้อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ขับรถส่งของ คนเก็บขยะ ผู้ช่วยพยายบาลต่างๆ แต่กลับเป็นคนไม่ได้กับการเหลียวแลจากรัฐ

นายธนาธรกล่าวอีกว่า สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบธุกิจในวิกฤตตอนนี้ สิ่งสำคัญคือสายป่านต้องยาวขึ้นคือ ควรมีเงินสดถือไว้ สำหรับรองรับต้นทุนคงที่ของบริษัทตนเองอย่างน้อย 6 เดือน ต้องอยู่ให้ได้สำหรับค่าใช้จ่ายคงที่ ธนาคารที่ให้กู้ช่วงนี้ต้องรีบกู้เงินออกมาถือไว้ก่อน เพราะถ้าสถานการณ์หนักกว่านี้ ธนาคารย่อมต้องไม่ให้กู้ แต่สำหรับบริษัทที่มีเงินสดในมือ มองว่านี่คือโอกาสที่จะซื้อเทคโนโลยี เพราะจะถูกมาก หรืออาจเป็นการซื้อคู่แข่งที่มีฐานลูกค้าซึ่งเราไม่มี เช่น บริษัทที่มีฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ แต่คู่แข่งมีฐานในต่างจังหวัด ก็สามารถเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองได้ 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเกิดมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการขยายงบดุลธนาคารแห่งประเทศอย่างมโหฬารทั่วโลก อีกไม่นานเงินจะท่วมตลาด ถ้ามีเงินสดเหลือมากกว่า 6 เดือนคือโอกาส

นายธนาธรกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีแพ็กเกจมาตรการที่ใหญ่กว่า ทั้งรับมือในช่วงนี้และรับมือช่วงฟื้นฟูประเทศ เงินมหาศาลจะเข้าสู่ระบบ นี่จะเป็นมาตรฐานใหม่และจะเห็นแพ็กเกจใหญ่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน รวมถึงหลังจากนี้จะมีโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นระบบเวชทะเบียนแบบกระดาษที่ใช้ในโรงพยาบาลต้องเลิกได้แล้ว ควรทำข้อมูลเวชทะเบียนดิจิทัลที่ง่ายต่อสืบค้น มีการเก็บข้อมูลแบบบิ๊กดาต้า ใช้เอไอวิเคราะห์ และต้องเชื่อมโยงกับบัตรประชาชน ไม่ควรต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน เช่น การลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งตอนนี้ใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักก็น่าจะเพียงพอ

ในอนาคตด้านการแพทย์จะมียาสำหรับแต่ละคน นาโนเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้ เพราะถ้ามีบิ๊กดาตา มีข้อมูลดิจิทัล มีการสังเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ถ้าเกิดป่วยขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะบอกได้เลยว่ามียาที่เหมาะสมกับเราที่สุด และในเมืองไทยอีกอย่างที่อยากเห็นแม้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ก็ตาม คือการผลิตเครื่องช่วยหายใจ เพราะที่ผ่านมานำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์จำนวนมาก อาจต้องกลับมาคิดเรื่องนี้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดในอนาคต เช่น การผลิตเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงตัวกรองอากาศ HEPA Fillter ที่ใช้ในห้องความดันอากาศของผู้ป่วย ซี่งเทคโนโลยีไม่ได้ซับซ้อน แต่ต้องนำเข้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง