เปิดเส้นทาง รัฐบาลควัก 300 ล้าน ผลิต "หน้ากากผ้า" แจกประชาชน

สังคม
2 เม.ย. 63
17:22
791
Logo Thai PBS
เปิดเส้นทาง รัฐบาลควัก 300 ล้าน ผลิต "หน้ากากผ้า" แจกประชาชน
ตรวจเส้นทางหน้ากากอนามัย หลังรัฐบาลจัดโควตาให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าสู้ COVID-19 พร้อมอุดช่องโหว่ให้ มท. ผลิตหน้ากากผ้าแจกท้องถิ่น และเตรียมให้ ก.อุตสาหกรรม ผลิตแจกคนกรุงฯ-ปริมณฑล โดยใช้งบกลางเกือบ 300 ล้านบาท

ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลได้รวบอำนาจการจัดการหน้ากากอนามัยไว้ภายใต้ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยมีการจัดสรรโควตาหน้ากากอนามัยอย่างเป็นรูปธรรม แทนการจัดโควตาภายในกำกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

วันที่ 30 มี.ค. ประเดิมวันแรกของสัปดาห์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงข่าวปรับโควตาหน้ากากอนามัย โดยยืนยันว่า 13 โรงงานในกำกับกระทรวงพาณิชย์ ผลิตหน้ากากอนามัยได้เพียงวันละ 2.8 ล้านชื้น 

ช่วงแรก ศูนย์ฯ จะจัดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นด่านหน้า ส่งตรงถึงโรงพยาบาล 1.8 ล้านชื้นต่อวัน ส่วนที่เหลือ 1 ล้านชิ้น จะส่งให้จังหวัด พิจารณาส่งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง อสม. ที่ร่วมภารกิจในครั้งนี้ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้มีโรคแทรกซ้อน ผู้สูงอายุ ฯลฯ

เท่ากับว่าหน้ากากอนามัยที่อยู่ในการจัดการของรัฐบาลทั้งหมด ยัง "ไม่เหลือ" ส่งให้ประชาชนทั่วไป แต่รัฐบาลพยายามเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้ โดยนายวิษณุ ระบุว่า อาจจะต้องรอ 4-5 วัน ให้หน้ากากอนามัยเพียงพอต่อผู้ที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน จากนั้นจึงจะแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป

 

ผู้สื่อข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยที่ต้องจัดสรรอย่างเป็นระบบนี้ เป็นหน้ากากอนามัยแบบมาตรฐาน หรือ Surgical Mask ที่ใช้ในทางการแพทย์

ดังนั้นรัฐบาลจึงเดินหน้าอุดช่องโหว่นี้ที่มีตั้งแต่ต้น และอุดช่องโหว่หน้ากากฯ รอบนี้ที่ยังไม่ถึงมือประชาชนทั่วไป โดยการเร่งแจกหน้ากากผ้า

หน้ากากผ้า เป็นผลิตภัณฑ์ล็อตใหญ่ที่รัฐบาลเดินหน้าก่อนที่จะมีการตั้ง ศบค. แล้ว โดยล็อตแรกมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิต ได้รับงบจากรัฐบาล ซึ่งเป็นงบกลาง 225 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น 

มีกรมส่งเสริมการปกครองถ้องถิ่นเป็นแม่งาน รับงบฯ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นช่วยผลิตหน้ากากผ้า และแจกจ่ายคนในพื้นที่ มาตรการนี้เท่ากับพุ่งตรงไปที่ "ท้องถิ่น"

ล่าสุด (2 เม.ย.2563) นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยระบุว่า ขณะนี้ผลิตและแจกแล้ว 47 ล้านชิ้น โดยมีอีก 9 จังหวัด ที่ยังผลิตไม่ครบ 100% คือ ภูเก็ต ขอนแก่น สมุทรปราการ ราชบุรี ตราด ตาก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี และสงขลา รวม 3 ล้านชิ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินความพึงพอใจของคนในพื้นที่ แต่จะประเมินหลังเสร็จโครงการ  

 

ไม่ทันที่ท้องถิ่นจะผลิตได้ครบ 100% ครม.เคาะงบฯ ล็อตใหม่ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยผลิตหน้ากากผ้า ส่งให้ถึงมือประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เคยเสนอตัวเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยแล้ว แต่พบว่ามีต้นทุนสูงถึง 4.50 บาท หรืออาจต้องขายในราคา 5 บาท จึงทำให้ความพยายามในรอบแรกถูกตีตกไป

แต่รอบนี้โจทย์ชัดเจนเป็น "หน้ากากผ้า" ที่จะส่งไปยังมือของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงอย่าง จ.นนทบุรี และที่อื่นๆ รอบกรุงเทพฯ รวมถึงบางจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ที่สำคัญจะใช้บริการไปรษณีย์ส่งถึงมือประชาชนตามทะเบียนบ้านคนละ 1 ชิ้น เริ่มแจกที่กรุงเพทฯ ภายใน 11 เม.ย. ซึ่ง ครม. เคาะงบฯ จากงบกลางให้แล้ว 65 ล้านบาท และตั้งเป้าผลิต 10 ล้านชิ้น 

อย่างไรก็ตามตามกลไกนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้โรงงานที่ผ่านการประเมินคุณภาพในการผลิตหน้ากากผ้าตามสเปกที่กระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการทั้งหมด

ทั้งนี้เมื่อพิจารณา 3 ประเด็นหลัก คือ ปริมาณ งบประมาณ และประสิทธิภาพ พบว่า ที่ผ่านมามีเพียงการรายงานตัวเลขปริมาณของหน้ากากผ้าที่ผลิตได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งหน้ากากอนามัยถึงมือประชาชน รวมถึงคุณภาพของหน้ากากผ้า จึงไม่ทราบผลลัพธ์เชิงคุณภาพว่าประชาชนได้รับประโยชน์กับโครงการผลิตหน้ากากผ้ามากน้อยแค่ไหน

รวมถึงการตรวจสอบการใช้งบฯ เกือบ 300 ล้านบาท ส่งเสริมให้มีการผลิตหน้ากากผ้า โดยใช้ท้องถิ่นและโรงงาน จะก่อให้ประโยชน์กับประชาชนมากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะในการแง่ของคุณภาพที่ใช้ป้องกันการระบาด COVID-19 ซึ่งไทยพีบีเอสออนไลน์จะได้ติดตามผลลัพธ์ของโครงการนี้ต่อไป ทั้งประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่จะได้รับแจกหน้ากากผ้าต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง