ธปท.จ่อชง ครม.ขอออก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน-พยุงตราสารหนี้เอกชน

เศรษฐกิจ
3 เม.ย. 63
14:32
751
Logo Thai PBS
ธปท.จ่อชง ครม.ขอออก พ.ร.ก.ซอฟท์โลน-พยุงตราสารหนี้เอกชน
"สมคิด" เผย ครม.นัดพิเศษถกเพิ่มมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจไทยครอบคลุมทุกมิติ ขณะที่ ธปท.เตรียมเสนอ ครม.ขอออก พ.ร.ก.จัดทำซอฟท์โลนพิเศษและสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชน ลดผลกระทบ COVID-19

วันนี้ (3 เม.ย.2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 โดยระบุว่า ครม.มีการประชุมนัดพิเศษเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจไทย ชุดที่ 3 ซึ่งมาตรการชุดนี้ กระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติและครอบคลุมช่วงเวลา 6 เดือนจากการคาดการณ์

โดยนำเสนอเป็นกลุ่มกิจกรรม ได้แก่ 1. มาตรการเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจในส่วนที่ยังขาด เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน 2. มาตรการที่เสนอเพื่อดูแลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงสถานการณ์ติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ และ 3. การดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน

 

ขณะที่นายอุตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มีการจัดมาตรการเพื่อดูแลประชาชน โดยจะเริ่มดูแลกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และจะลดภาระการผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติมในส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการ รวมถึงการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม งบประมาณที่จะใช้ต่อสู้กับ COVID-19 และอีกส่วนหนึ่งคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้สภาพธุรกิจเปลี่ยนไปเมื่อเหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว

ธปท.เตรียมเสนอ 4 มาตรการอุ้มภาคธุรกิจ

สำหรับมาตรการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการนั้น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า มาตรการที่ผ่านมาเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นประชาชนรายย่อย โดยมีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดย่อมและขนาดเล็ก ก็มีมาตรการออกมาอีกชุดหนึ่ง แต่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องการพักเงินต้นและดอกเบี้ย ก็จะขยายให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ส่วนเรื่องสินเชื่อที่จะช่วยเป็นสภาพคล่องใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมากกับฐานเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในการดูแลลูกจ้าง หรือพยุงธุรกิจในช่วงสภาวะที่ยากลำบาก ธปท.จึงได้เสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการที่จะขอออกพระราชกำหนด เพื่อให้ ธปท.จัดทำซอฟท์โลน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยตรงได้ด้วยเงินของ ธปท. คล้ายกับที่เคยทำในปี 2555 ในวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สถาบันการเงินและระบบการเงินของเรามีความเข้มแข็ง สามารถเป็นเสาหลักสำคัญให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันต้องแน่ใจว่าตลาดการเงินยังสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ

 

นายวิรไท ยังระบุอีกว่า ก.ล.ต.และ ธปท.ได้ร่วมกันพิจารณากลไกสำคัญที่จะช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชน ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยให้กับภาคเศรษฐกิจประมาณ 14 ล้านล้านบาท และผู้ถือตราสารหนี้ของภาคเอกชนจะครอบคลุมประชาชนและองค์กรหลากหลายประเภท เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

ธปท.จึงจะเสนอขอหลักการจาก ครม.ขอให้มีการออกพระราชกำหนดให้ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารที่ครบกำหนดที่ต้องมีการออกใหม่ เพื่อไปชำระของเดิมได้ แต่ทั้งหมดต้องเป็นตราสารที่ออกโดยผู้ออกที่เป็นบริษัทที่มีคุณภาพดีและต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง โดยจะนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 7 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 มาตรการทางการเงินที่จะขอความเห็นชอบจาก ครม. คือเรื่องการขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก ที่จะลดลงเป็น 1 ล้านบาท จากเดิม 5 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.นี้ คณะกรรมการของสำนักงานคุ้มครองเงินฝากมีความเห็นให้ขยายออกไปก่อนอีก 1 ปี เป็นเดือน ส.ค.2564 เพื่อลดความกังวลของประชาชน รวมถึงเรื่องลดเงินนำส่งของสถาบันการเงิน จากเดิมอัตรา 0.46% จะลงเหลือ 0.23% ในระยะเวลา 2 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง