ผ่าวิกฤตหน้ากากอนามัย

สังคม
3 เม.ย. 63
16:01
2,310
Logo Thai PBS
ผ่าวิกฤตหน้ากากอนามัย
ถึงวันนี้ ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยยังเป็นวิกฤตท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่คำถามว่า หน้ากากอนามัยหายไปไหน และ มีหนทางใดที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหานี้ได้บ้าง

15 มี.ค. 2563 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในในขณะนั้น ให้ข้อมูลว่า โรงงานในประเทศไทยสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น หรือประมาณ 36 ชิ้นต่อเดือนก่อนจะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านชิ้น และอาจเพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้น/วัน 

ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัย ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 2.3 ล้านชิ้น/วัน หรือประมาณ 70 ล้านชิ้น/เดือน

ก่อนหน้านี้ การจัดสรรหน้ากากอนามัย เป็นหน้าที่ของศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ มีแผนจัดสรรหน้ากากอนามัยรวม 1,710,000 ชิ้น ดังนี้

กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่กระจายหน้ากากอนามัย 900,000 ชิ้น แบ่งเป็น
- โรงพยาบาลในสังกัด , โรงพยาบาลกรมการแพทย์ , โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด จำนวน 570,000 ชิ้น
- สถานพยาบาลเอกชน 180,000 ชิ้น
- โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 80,000 ชิ้น
- สถานพยาบาลสังกัด กทม. 70,000 ชิ้น

ขณะที่ กรมการค้าภายใน ทำหน้าที่กระจายหน้ากากอนามัย 810,000 ชิ้น ไปให้ประชาชน โดยจำหน่ายหน้ากากอนามัยบรรจุแพ็ค 4 ชิ้น แพ็คละ 10 บาท ผ่านช่องทางต่างๆ

30 มี.ค. 2563 ศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย เปลี่ยนแผนการจัดสรรหน้ากากอนามัยจากเดิมที่บริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงพาณิชย์นั้น ยังคงให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้โรงพยาบาลทุกระดับเช่นเดิม แต่ในส่วนที่กรมการค้าภายในรับผิดชอบ จะเปลี่ยนให้กระทรวงมหาดไทยแทน

แนวทางใหม่นี้ จะจัดสรรจากปริมาณการผลิต ณ ปัจจุบัน ที่ 2.3 ล้านชิ้น/วัน โดยกระทรวงสาธารณสุขขนส่งไปยังปลายทางที่สาธารณสุขจังหวัด ส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะขนส่งไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ นำไปจัดสรรให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น อสม.หมู่บ้าน , กลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อและผู้กักกันตัวเอง หากเหลือจึงพิจารณาจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป

สำรวจปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัย

บริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเกือบทั้งหมดในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่รับจ้างผลิตหรือเป็นบริษัทที่ต่างชาติลงทุน 100% จึงเป็นการผลิตเพื่อส่งออกทั้งหมด ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรา 36 (1) คือการยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันราคาในตลาดโลกได้ ขณะที่ มีข้อมูลว่าในปี 2563 มีผู้ส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 44 บริษัท

 

รายงานสถิติการส่งออกของกรมศุลกากร รหัสพิกัดอัตราศุลกากร 63079040000 (หน้ากากอนามัยทางแพทย์) และ 63079090001 (หน้ากากความปลอดภัยในการป้องกันฝุ่น ควันหรือสารพิษ) ระบุว่า เดือน ธ.ค. 2562 - ก.พ. 2563 ปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 28.9 ตัน (28,892 ก.ก.) และ ปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยอื่นๆ อยู่ที่ 465.9 ตัน (465,890 ก.ก.) รวมปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภทในรอบ 3 เดือน คือ 494.8 ตัน (494,742 ก.ก.)

หน้ากากอนามัย 1 ชิ้น มีน้ำหนักประมาณ 2.1 กรัม

 

หากคิดจากน้ำหนักในการส่งออกเพื่อคำนวณเป็นชิ้น นั่นหมายถึง 3 เดือนที่ผ่านมา เราส่งออกหน้ากากทางการแพทย์ประมาณ 13 ล้านชิ้น และ หน้ากากประเภทอื่นๆประมาณ 221 ล้านชิ้น

เฉพาะเดือน ก.พ. 2563 ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุปริมาณการส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 22.3 ตัน และ หน้ากากอนามัยประเภทอื่น 195 ตัน รวม 217.3 ตัน (ยังไม่มีรายงานการส่งออกเดือนมีนาคม 2563) ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับที่มีประกาศสำนักคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ควบคุมสินค้ากระทั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กกร. เป็นการเฉพาะ

 

สำนักคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการปี 2542 ออกประกาศฉบับแรก เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทั้งการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย เงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าโดยเป็นธรรม

จากนั้น วันที่ 20 ก.พ. 2563  กกร. ออกประกาศฉบับที่ 2 ประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญคือห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกิน 500 ชิ้นขึ้นไป เว้นแต่มีหนังสืออนุญาต โดยหนังสืออนุญาตจะส่งออกได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ประกาศฉบับที่ 3 คือการแจ้งข้อมูลราคา และการปันส่วนเพื่อจำหน่าย โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และตัวแทนจำหน่าย ต้องแจ้งข้อมูลเป็นรายเดือน ทุกวันที่ 10 ของเดือน ข้อมูลที่ต้องแจ้งประกอบด้วย ต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต การนำเข้าส่งออก นั่นหมายถึงต้องแจ้งปริมาณคงเหลือหรือสต๊อคที่มีการครอบครองอยู่

25 ก.พ. 2563 มีประกาศฉบับที่ 8 เพื่อแก้ไขประกาศฉบับที่ 2 คือเรื่องวิธีการส่งออกหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม โดยห้ามส่งออกทั้งหมด

6 มี.ค. 2563 ออกประกาศฉบับที่ 9 เพื่อแก้ไขประกาศฉบับที่ 3 และฉบับที่ 10 เรื่องการกำหนดราคา และแจ้งข้อมูลหน้ากากอนามัยซึ่งกำหนดให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย ต้องจำหน่ายไม่เกินราคา 2.50 บาท รวมทั้งกำหนดราคาขายปลีกของหน้ากากอนามัยนำเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 23

 

แม้การประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม มีผลตั้งแต่ 4 ก.พ. 2563
แต่ในรายละเอียดพบว่า ไม่ได้ห้ามส่งออกทันที นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม แต่ต้องรอให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 ก.พ. 2563 ซึ่งใช้เวลา 16 วัน

ขณะที่ อธิบดีกรมการค้าภายในในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ว่า ประเทศไทยมีสต็อกหน้ากากอนามัยกว่า 28 ล้านชิ้น แต่มีความต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนกว่า 32 ล้านชิ้น จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลา 16 วันก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้ อาจเป็นช่องว่างให้มีการกักตุน หรือ เปิดช่องให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือไม่

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ได้เขียนไว้ในมาตรา 24 ว่า “ประกาศของ กกร. เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” นั่นหมายความว่าประกาศจะมีผลบังคับต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศ กกร. ฉบับที่ 2 เรื่องห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกิน 500 ชิ้น รัฐมนตรีลงนาม 4 ก.พ. 2563 ราชกิจจาฯ ประกาศ วันที่ 20 ก.พ. ใช้เวลา 16 วัน

 

ประกาศ กกร.ฉบับที่ 8 เรื่องห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย รัฐมนตรีลงนาม 20 ก.พ. 2563 ราชกิจจาฯ ประกาศในวันที่ 25 ก.พ. 2563 ใช้เวลา 5 วัน

เมื่อเปรียบเทียบกับ ประกาศ กกร. ฉบับที่ 12 เรื่อง ห้ามส่งออกไข่ไก่ รัฐมนตรีลงนาม 26 มีนาคม 2563 ราชกิจจาฯ ประกาศในวันเดียวกัน ใช้เวลาไม่ถึง 24 ชม.

ช่วง 4-20 ก.พ.ซึ่งมีประกาศให้ส่งออกได้ไม่เกิน 500 ชิ้น หากเราไปดูว่าในช่วงนั้น มีเอกชนเจ้าใดทำเรื่องขอส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า เอกชนดังกล่าวจะมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในของการตัดสินใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีการออกประกาศฉบับที่ 8 บอกว่าไม่จำกัดจำนวน แล้วแต่ว่าอธิบดีอนุมัติเท่าไร เป็นการตั้งข้อสังเกตต้องเอาหลักฐานมาพิสูจน์กัน

แก้ปัญหาขาดแคลนด้วยหน้ากากอนามัย BOI ได้หรือไม่

ขณะนี้ ยังมีการส่งออกหน้ากากอนามัย ทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์จากต่างประเทศและห้ามจำหน่ายในประเทศตามเงื่อนไขใด แม้ในภาวะที่ประเทศไทย ประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน

 

หนังสืออนุญาตการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัย ของบริษัทเอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไปยังสหรัฐอเมริกา จำนวน 6,232 กก. หรือ 1.3 ล้านชิ้น ออกให้วันที่ 11 มี.ค. 2563 โดยอธิบดีกรมการค้าภายในฉบับนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เข้าเงื่อนไขหลังประกาศ กกร. ห้ามส่งออก ยกเว้นเลขาธิการ กกร.อนุญาต

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ชี้แจงกรณีการส่งออกหน้ากากอนามัยต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ว่า บริษัทเอ็มเมอรัลด์ นอนวูเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกโครงการผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สัญชาติไต้หวัน ส่งออก 100% กำลังการผลิตกว่า 141 ล้านชิ้นต่อปี

แม้โรงงานใดได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออก แต่ BOI ไม่กำหนดว่าจะต้องส่งออกเท่านั้น เพราะหลังจากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก เมื่อปี 2543 เงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกจำกัดอีกต่อไป

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากผู้ได้รับการส่งเสริมมีการนำวัตถุดิบที่ยกเว้นอากรขาเข้ามาใช้ผลิตหน้ากากอนามัยแล้วประสงค์จะจำหน่ายในประเทศ   BOI จะให้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุน ชำระอากรอัตราอากรร้อยละ 0 นั่นคือไม่มีภาระภาษีสำหรับการจำหน่ายในประเทศ พร้อมได้เจรจากับผู้ผลิตหน้ากากอุตสาหกรรม ให้มีการลงทุนเพิ่มสายการผลิตหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 ในช่วงสถานการณ์วิกฤตขาดแคลนหน้ากาอนามัย รวมทั้งเสนอปรับเพิ่มสิทธิและประโยชน์ในการลงทุนกิจการเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งหน้ากากอนามัย ในการประชุม BOI ในวันที่ 10 เม.ย. 2563

นอกจากนี้ นางสาวดวงใจ ยังให้ข้อมูลว่า ขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตส่งออก ทาง กกร. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการอนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักร เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสมเสนอต่อเลขาธิการ กกร. ซึ่งไม่มีผู้แทนของ BOI อยู่ในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว

รวมทั้งหลักเกณฑ์พิจารณาในการอนุญาตส่งออกตามประกาศ กกร. ฉบับที่ 8 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการส่งออกหน้ากากอนามัยว่า ให้คำนึงถึงลักษณะจำเพาะสินค้า ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ ความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งานภายในประเทศ การจัดหาหน้ากากอนามัยเพื่อสนับสนุนการจัดสรรให้ใช้ในประเทศตามสมควร ซึ่งการเป็นโครงการใน BOI ไม่อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวที่จะต้องอนุญาตให้ส่งออก

จากข้อมูลดังกล่าว ในสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ นี่อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินการได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ติดข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์การส่งออกตามเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน โดยหาวิธีการชดเชยให้แก่เอกชนผู้ผลิตอย่างเหมาะสม

วาทินี  นวฤทธิศวิน  ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส / รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง