เทียบอาการ COVID-19 "เด็ก-ผู้ใหญ่" แบบไหนเสี่ยง

สังคม
4 เม.ย. 63
17:04
26,938
Logo Thai PBS
 เทียบอาการ COVID-19 "เด็ก-ผู้ใหญ่" แบบไหนเสี่ยง
กรมควบคุมโรค เผยเคสเด็กทารกวัย 1 เดือนป่วย COVID-19 ถือเป็นผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดในไทย ขณะที่พบว่าลักษณะอาการของเด็ก และผู้ใหญ่จะต่างกัน ในเด็กอาการไข้น้อย ไอเยอะ ส่วนผู้ใหญ่ไข้สูง 89%

วันนี้ (4 เม.ย.2563) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) กล่าวว่า จากข้อมูลโดยทั่วไปของโรคโควิด-19 ทั่วโลกพบว่าเมื่อเริ่มติดเชื้อแล้วภายในวันที่ 5 จะเริ่มมีอาการและยาวที่สุด 10 วันแต่ของไทยจะใช้ที่ 14 วัน ส่วนตัวเลขการแพร่โรคนี้ ผู้ป่วย 1 คน การแพร่โรคโดยทั่วไปอยู่ที่ 2.2 คือ แต่บางสถานการณ์มีบางคนสามารถแพร่ได้มากกว่าคนทั่วไป หรือที่เรียกว่าเป็นซูปเปอร์สเปรดเดอร์ และเมื่อมีสถานการณ์ที่เกิดผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ค่าความสามารถในการแพร่เชื้อก็จะสูงขึ้น

กรณีไทยมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสนามมวย สถานบันเทิง ช่วงนั้นค่าความสามารถในการแพร่โรคก็จะอยู่ที่ 3.4-3.6 แต่ในสถานการณ์ทั่วไปค่าความสามารถในการแพร่โรคค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1 

ผู้ป่วย 80% ไม่แสดงอาการป่วย

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ส่วนความรุนแรงของโรคมากกว่า 80 % ของผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างน้อย และในจำนวนนี้ประมาณ 30 % ไม่มีอาการใดๆ เลย หรือเรียกว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการ และมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่มีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 20 % ต้องรับการดูแลทางการแพทย์ และอีกประมาณ 5 % ได้รับการรักษาพยาบาลกรณีพิเศษ และเสียชีวิตคือ 100 คนจะเสียชีวิต 1.4 % ของผู้ป่วย

เมื่อมีการติดเชื้อแล้วจะ 2 ทางหลักจากการหายใจนำเชื้อเข้าไปถ้าอยู่ใกล้คนไข้ที่ไอ จาม และคนไข้ไอ จามมีละอองฝอยทิ้งไว้ เมื่อคนถัดมาใช้มือที่ไม่สะอาดไปโดนหน้า ตา จมูก ปากเชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่ง 90%  ช่วยได้ดังนั้นคนแข็งแรงให้ใส่หน้ากากผ้า

เมื่อแยกอัตราป่วยตายตามกลุ่มอายุ แยกเป็น 10-19 ปี 0.2 % 20-29 ปี 0.2 % 30-39 ปี 0.2% 40-49 ปี 0.4 % 50-59 ปี 1.3 % 60-69 ปี 3.6 % 70-79ปี 8 % และ 80 ปีขึ้นไป 14.8 %

เทียบอาการป่วยเด็ก-ผู้ใหญ่ ไอ-ไข้ต่างกัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการสำคัญของผู้ติดเชื้อ ในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กจะมีลักษณะที่ไม่ค่อยเหมือนกัน โดยเด็กจะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่จะมีอาการไข้ และไอเป็นอาการหลักที่สำคัญ พบว่ามีไข้ 89 % ไอ 68 % ส่วนอาการอื่นๆ เช่น เจ็บคอเจอ 14 % มีน้ำมูกเจอน้อยเพียง 5 % มีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 15 % อ่อนเพลีย 38 % และถ้าเริ่มมีอาการปอดอักเสบก็จะหายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว 19 %

ส่วนในเด็ก อาการไข้จะน้อยกว่าผู้ใหญ่เจอเพียง 42 % ไอเจอ 49% อ่อนเพลีย 7.6 % หากมีอาการปอดอัดเสบก็จะหายใจเร็ว หายใจลำบาก 29%

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีพบผู้ป่วยอายุเพียง 1 เดือนที่จ.ระยอง เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันเป็นเด็กโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 1 ปี นิยามของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต่างจากผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปสถานที่ต่างๆ ดังนั้นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็จะเป็นคนในบ้าน ญาติที่ใกล้ชิด

ทั้งนี้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ใช่ทุกรายจะต้องติดเชื้อ ให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังสังเกตอาการ แต่เด็กที่เชื้อมักอาการไม่มาก แต่หากเด็กติดแล้วมีญาติผู้ใหญ่ที่สูงวัยเข้าใกล้ชิด เด็กก็สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงได้

อยู่คอนโด-หมู่บ้านคนติดเชื้อทำอย่างไร

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมบ้าน และกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ หากเริ่มมีอาการวันที่ 1-5 มีใครบ้างที่เสี่ยง กรณีในคอนโดมิเนียม หากมีโอกาสคุยกับผู้ป่วยในช่วง 5 วัน และพูดคุยแบบไม่ได้ป้องกัน พูดคุยกันแบบนาน 5 นาที ถ้าแค่ทักทายก็ไม่ได้เสี่ยงสูง และหากใกล้กันและในรัศมี 1 เมตรประมาณ 15 นาที ดังนั้นโอกาสที่ผู้ร่วมคอนโดมิเนียม จะไปสัมผัสผู้ติดเชื้อมีไม่มาก

เชื้ออยู่ในพื้นผิวสัมผัสบางชนิด 24 ชั่วโมง และนานสุด 72 ชั่วโมงและการทำความสะอาดพื้นที่ผิวสัมผัสที่คนสัมผัสโดยบ่อยๆ ก็ลดโอกาสเสี่ยง และก่ารเช็ดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ดีกว่าการพ่นน้ำยา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง