นายกฯ ไฟเขียว พ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาทสู้ COVID-19

การเมือง
7 เม.ย. 63
15:21
1,152
Logo Thai PBS
นายกฯ ไฟเขียว พ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาทสู้ COVID-19
นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ COVID-19 เป็นวาระแห่งชาติในที่ประชุม ครม.วันนี้ พร้อมเร่งพิจารณาปรับแผนงบประมาณปี 63 เติมงบกลางเพิ่ม และเร่งผลักดัน พ.ร.ก.ธปท. และ พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อเยียวยาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

วันนี้ (7 เม.ย.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดต่อไป โดยขอให้ทุกคนได้ฟังในเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกส่วน แต่ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการหากยืนยันได้ว่าเดือดร้อนจาก COVID-19 จริง แต่หากให้เยียวยาทั้งหมดก็อาจรับไม่ไหว เพราะงบประมาณที่มีอยู่ก็จำกัด

รัฐบาลยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการรักษาสุขภาพให้คนไทย เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือ สิ่งไหนที่ยังมีปัญหาอยู่ ก็ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย เพราะเป็นการทำงานกับคนจำนวนมาก

ทั้งเรื่องการเดินทางกลับเข้าประเทศ การกักตัวดูอาการของรัฐบาลในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น วันนี้มีหลายมาตรการออกมา จึงต้องอยู่ที่การบูรณาการที่หน้างานให้ดีทุกสถานที่ โดยเฉพาะสนามบิน ศูนย์ EOC กำกับดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีแพทย์ประจำอยู่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องตัดสินใจตามกรอบนโยบาย ส่วนการเข้าประเทศได้สั่งการไปแล้วว่าให้ทยอยเดินทางเข้า เพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังพื้นที่กักตัว ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย

ภาพ : รัฐบาล

ภาพ : รัฐบาล

ภาพ : รัฐบาล


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงวาระการประชุม 3 เรื่อง เกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณว่า ประเด็นแรก คือ การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 เพื่อให้เติมงบกลางมากขึ้น ซึ่งเดิมเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดใช้วงเงินประมาณ 80,000 - 1 แสนล้านบาท โดยต้องเสนอ ครม.และเข้าสภาฯ อีกครั้ง

คาดบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย.นี้ แต่ยังต้องพิจารณาหลายข้อกำหนด การเอาตัวเลขใหญ่ๆ โอนมาทั้งหมด แล้วหักร้อยละ 10 เป็นไปได้ยากและไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณด้วย

ประเด็นที่ 2 คือ การพิจารณา พ.ร.ก.เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นการบริหารการเงินการคลัง วงเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งจะไม่มีการใช้เงินรัฐบาลหรือเงินกู้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดต่อไป


ประเด็นสุดท้าย คือ การพิจารณาออก พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ 1 เยียวยาและสาธารณสุข ประมาณ 600,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป โดย 2 ก้อนนี้สามารถที่จะปรับโอนไปมาได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง