NASA เปิดแผนการรับมือ COVID-19 บนอวกาศ

Logo Thai PBS
NASA เปิดแผนการรับมือ COVID-19 บนอวกาศ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดแผนรับมือ COVID-19 ของนาซา โดยวันนี้ (9 เม.ย.) มีแผนส่งนักบินอวกาศ 3 คนไปสถานีอวกาศนานาชาติ 6 เดือน โดยพวกเขาจะเฝ้ามองการแพร่ระบาดของโรคนี้ จากอวกาศที่อยู่สูงจากพื้นโลก 400 กิโลเมตร

วันนี้ (9 เม.ย.2563) เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page เผยแผนรับมือ COVID-19 ของนาซา #สถานีอวกาศนานาชาติจะต้องปลอดภัย เนื่องจากวันนี้ นาซา มีแผนจะส่งนักบินอวกาศ 3 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ทั้ง 3 คนจะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนาน 6 เดือน และพวกเขาจะเฝ้ามองการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จากอวกาศที่อยู่สูงจากพื้นโลก 400 กิโลเมตร

การหนีออกจากโลกเป็นเวลา 6 เดือน ฟังดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์ในเวลานี้ แต่นักบินอวกาศจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา ติดตามพวกเขาไปยังสถานีอวกาศนานา ชาติ แม้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น แต่การระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ก็ทำให้นาซาตระหนักถึงเรื่องนี้

เนื่องจากบนสถานีอวกาศนานาชาติมีข้อจำกัดเรื่องเวชภัณฑ์ และหากต้องเดินทางกลับโลกแบบฉุกเฉินเพราะป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็คงจะยุ่งยากมากทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้การขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ของนักบินอวกาศในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น นาซาและรอสคอสมอส องค์การอวกาศของรัสเซียได้เพิ่มมาตรการป้องกันก่อนที่จะส่งตัวนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ได้แก่ คริสโตเฟอร์ แคสซิดี อะนาโตลี อีวานีชิน และ อีวาน วักเนียร์

ในเดือนพ.ค.นี้ นาซายังมีแผนจะส่งนักบินอวกาศอีก 2 คน ได้แก่ ดักลาส เฮอร์ลีย์ และ โรเบิร์ต เบนเคน ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยยาน Dragon 2 ที่จะใช้จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ส่งขึ้นไป หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่นั่งยานอวกาศจากภาคเอกชนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าว CBS ระบุว่า เฮอร์ลีย์ และ เบนเคน ได้เตรียมความพร้อมอย่างมากในการป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรนา

แน่นอนว่าการส่งนักบินอวกาศทั้ง 5 คนขึ้นสู่อวกาศนั้นเป็นความท้าทายอยู่แล้วในสถานการณ์ปกติ แต่ยิ่งมีโรคร้ายระบาดด้วยแล้วก็ยิ่งท้ายทายขึ้นไปอีก

#มาตรการของนาซา

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อภารกิจต่าง ๆ ของนาซาไม่น้อย พนักงานหลายคนติดเชื้อไวรัสนี้ นาซาจึงเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ทำความสะอาดพื้นที่ และการเพิ่มระยะห่างทางสังคม หรือ "Social Distancing" เช่นเดียวกับการกำหนดให้พนักงานหลายคนทำงานจากที่บ้านหรือ “Work From Home” ที่หลายหน่วยงานปฏิบัติกันในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือต้องดูแลนักบินอวกาศให้ปลอดภัยจากโรคระบาดนี้

เพื่อป้องกันโรคระบาดในสถานีอวกาศนานาชาติ นาซาและรอสคอสมอส ให้นักบินอวกาศทุกคนกักตัวหลายสัปดาห์ก่อนออกเดินทางไปอวกาศ พร้อมฆ่าเชื้อโรค ตามถุงบรรจุภัณฑ์ทุกอย่าง กระบวนการกักตัวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่นาซาได้กักตัวนักบินอวกาศก่อนที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศ จะเห็นได้จากภารกิจอะพอลโล 11 ที่ นีล อาร์มสตรอง บัซซ์ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ต้องกักตัวเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังกลับมาจากดวงจันทร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเอาเชื้อโรคจากดวงจันทร์กลับมายังโลก

แดน ฮูโอ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์การนาซากล่าวว่า “โปรแกรมการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติของนักบินอวกาศนั้น มีข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้นักบินอวกาศนำเชื้อโรคขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ” สำหรับครั้งนี้ พวกเขากำลังกักตัวนักบินอวกาศอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าเดิมด้วยการเพิ่มระยะเวลาการกักตัวอีกสองสัปดาห์ รวมถึงยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างไป เช่น การเดินทางไปวางดอกไม้หน้าสุสานของยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคจะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและถุงมือขณะที่พวกเขาขนส่งสิ่งของ รวมถึงขณะช่วยเตรียมชุดและยานให้กับนักบินอวกาศเพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์อันตรายที่จะติดไปด้วย อีกทั้งยังให้พนักงานทุกคนต้องกักตัวอยู่ในสถานกักตัว ซึ่งมาตรการป้องกันที่กล่าวมานั้นได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยแพทย์ขององค์การอวกาศ และพวกเขากำลังติดตามทีมที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด

ภาพ:NASA

ภาพ:NASA

ภาพ:NASA

#อาการป่วยในอวกาศ

จากการวิจัยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาของนาซาระบุว่า การอาศัยอยู่ในอวกาศทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผนังหลอดเลือดแดงจะหนาขึ้นและจุลินทรีย์ในลำไส้ของนักบินอวกาศ จะเกิดความเปลี่ยนแปลง

บางงานวิจัยยังระบุว่านักบินอวกาศมากกว่าครึ่งมีอาการไม่สบาย เมื่อเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ อาการคือมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลียและอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียน อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการเริ่มต้นของคนเป็นโรค COVID-19 ซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้น นักบินอวกาศต้องทดสอบกับชุดทดสอบหาโรค COVID-19

แม้จะมั่นใจในมาตรการป้องกันแค่ไหน แต่เมื่อปี พ.ศ.2511 เคยมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสบางชนิดไปสู่อวกาศในภารกิจ Apollo 7 นักบินอวกาศวอลลี ชีรา มีอาการไข้หวัด และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่แออัด จึงทำให้นักบินอวกาศที่เหลือมีอาการป่วยตามด้วย ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจเป็นอย่างมาก จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้นาซากักตัวนักบินอวกาศก่อนการเดินทางขึ้นสู่อวกาศอยู่เสมอ

#วิธีรักษา COVID-19 เบื้องต้นบน #สถานีอวกาศนานาชาติ

การติด COVID-19 ในอวกาศอาจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าการติดไข้หวัดใดๆ และทางสถานีอวกาศนานาชาติก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินนี้แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนม.ค.นี้ นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติคนหนึ่ง ได้รักษาลิ่มเลือดในลำคอด้วยตัวเองจากการพูดคุยกับแพทย์บนพื้นโลก เขาฉีดยายาเจือจางเลือด (Blood thinner) อัลตราซาวด์คอของตนเอง และอัพเดทอาการกับแพทย์เป็นประจำจนเขาหายดี และไม่ต้องรักษาเพิ่มเมื่อกลับมาจากปฏิบัติภารกิจที่ยาวนานถึงหกเดือน

ตามรายงานในนิตยสาร Astronomy นาซาจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หากมีการรักษาผ่านการแพทย์ทางไกลกรณีมีนักบินอวกาศถูกพบว่าติดโรค COVID-19 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ขององค์การนาซากล่าวเพิ่มเติมว่า “จะมีการประชุมหารือเพื่อพยายามประเมินความเสี่ยงและทำอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างละเอียด”

ในขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติมีเวชภัณฑ์จำกัด เมื่อเทียบกับโรงพยาบาล แต่นักบินอวกาศจะมีเครื่องมือในการรักษาที่ดีกว่าบนโลก ในเบื้องต้นบนสถานีอวกาศนานาชาติมียารักษาโรคทั่วไปที่อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งมีตั้งแต่ยาพาราเซตามอลไปจนถึงยาไอบิวพรอเฟิน (ยาแก้อักเสบปราศจากสเตียรอยด์ หรือเอ็นเซด ซึ่งใช้รักษาอาการปวด ไข้ และการอักเสบ รวมถึงอาการปวดกระดูกและข้ออักเสบรูมาติก)

นอกจากยาแล้วยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า รวมถึงเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Blood Oximeters) เพื่อตรวจสอบว่านักบินอวกาศหายใจได้ดีแค่ไหน หากมีอาการรุนแรงจะไม่สามารถกลับมายังพื้นโลกได้ทันที แต่จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเป็นคนแรกที่ใส่ท่อช่วยหายใจในอวกาศ รวมถึงเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกนักบินอวกาศคนอื่นออกจากผู้ป่วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่นาซาใช้มาตรการเชิงรุกดำเนินการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการนำไวรัสโคโรนาไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่แรก

แม้แต่องค์การอวกาศระดับโลกยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังนั้นเราควรป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเราหวังว่านักบินอวกาศทั้งหมดจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยบนอวกาศได้ครบตามกำหนด

ข้อมูลจาก :https://astronomy.com/…/how-does-nasa-keep-covid-19--and-ot

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง