นายกฯ ยันยังไม่ขยายเคอร์ฟิว ใครเข้าประเทศต้องถูกกักตัว

การเมือง
9 เม.ย. 63
13:03
1,970
Logo Thai PBS
นายกฯ ยันยังไม่ขยายเคอร์ฟิว ใครเข้าประเทศต้องถูกกักตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธาน ศบค. ระบุผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่เหมาะสม ยืนยันยังไม่ขยายเคอร์ฟิวคงเดิม 22.00-04.00 น.

วันนี้ (9 เม.ย.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่านระบบ Video Conference โดยขอบคุณทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละ อดทนเพื่อการทำงานสำคัญครั้งนี้ ทั้งนี้ยังให้กำลังใจว่า การทำงานเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ย่อมมีความยากลำบาก และเต็มไปด้วยอุปสรรค มีทั้งผู้ที่มีเจตนาบริสุทธ์ ทั้งดีและไม่ดี จึงขอให้ทุกคนอดทน สร้างความเข้าใจชี้แจงประชาชน ก่อนมีมาตรการใดๆ ออกมา

ขอให้หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการแต่ละด้าน ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำนโยบายไปช่วยปฏิบัติ และไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรี เพียงแต่ต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอควบคุมภาพรวมการทำงานอย่างใกล้ชิดโดยการแก้ปัญหาประเด็นนี้ ประกอบด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมาก ขอให้กระชับ ผ่านการบริหารจัดการข้อมูล บูรณาการข้อมูลที่ ศบค. เพื่อการวิเคราะห์ตัดสินใจนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ทันที

การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย มีความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ผ่านระบบการกักตัวทั้ง State Quarantine และ Home Quarantine เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมจัดการ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ และให้ความร่วมมือการคัดกรอง โดยกักกันต้องเข้มงวด ต้องมีความพร้อม ทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย

ยังไม่ขยายเคอร์ฟิว-จัดสรรหน้ากากอนามัย

การประกาศเคอร์ฟิว ยังไม่ปรับอะไรเพิ่มเติม ขอดำเนินการตามมาตรการที่ได้ประกาศไปก่อน โดยเมื่อวานนายกรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมผู้กักตัวตามมาตรการ State Quarantine ที่โรงแรมเดอะภัทรา ขอชื่นชม ขอบคุณเจ้าของโรงแรม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ ศบค. พิจารณาอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลประชาชนที่อยู่ในการคัดกรอง และกำลังจะกลับมาเพิ่มเติม ให้เรียบร้อย ถูกต้องตามมาตรฐานการคัดกรอง

การประกาศเคอร์ฟิวเป็นไปตามประกาศเดิมคือ 22.00-04.00 น. และมีข้อยกเว้นตาม พ.ร.ก. กำหนด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานเพื่อแจ้งให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องทราบ

ประเด็นที่เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยแบบปกติ ผลิตได้เพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวัน แล้วคิดว่าด้วยจำนวนการผลิตเท่านี้ จะลดปัญหาขาดแคลนได้บ้าง

ส่วนหน้ากาก N 95 และชุด PPE ยังมีปัญหาต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี การผลิต N95 มีมาตรฐานการผลิตที่อาศัยหลายปัจจัย และต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน

การดำเนินการต้องผ่านมาตรการที่ถูกต้องตามระเบียบ หากไม่ถูกต้องจะต้องส่งเงินคืน และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมาย และหากกฏหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เพียงพอที่จะใช้ลงโทษต้องปรับเพิ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ศึกษาวงเงินที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากทั่วโลก ให้พิจารณาตั้งคณะทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ

รายงานข่าวจากที่ประชุมระบุว่า ด้านการแพทย์ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สาธารณสุขพิจารณา ดูมาตรการต่างๆ การดูแลติดตาม เพื่อตรวจสอบสาเหตุของการติดเชื้อ ตามรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แหล่งที่มาของเชื้อต่างๆ ให้ตรวจสอบการคัดกรอง และรักษาในโรงพยาบาลทั้งเอกชน และโดยเฉพาะในภาคใต้ยังมีตัวเลขการแพร่ระบาด

กระทรวงสาธารณสุขรายงานแบ่งการดูแล

PUI ผู้ป่วยแล้ว ดูแลผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ทำการสอบสวน ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ซึ่งที่ภูเก็ตทำไปแล้ว 1,500 ราย ดูแลการเฝ้าระวัง กำหนดเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูง

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 1.26 % อิตาลี 12.63 % อังกฤษ 11.03 % ถือว่าประเทศไทยดำเนินการได้ดี นายกรัฐมนตรีได้สั่งการขอให้มีการควบคุมการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น ให้จำนวนลดลงได้

กลับจากต่างประเทศต้องเข้า State Quarantine

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนการคัดกรองและระบบกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดการไม่ให้มีปัญหา โดยผ่านการบริหารแบบบูรณาการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ให้ทยอยเดินทางกลับเพื่อรัฐบาลจะได้จัดระบบที่เหมาะสมรองรับ โดยพิจารณาการ State Quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางมาทางอากาศ และดำเนินการ Local Quarantine ให้กับกลุ่มคนที่เดินทางผ่านด่านชายแดนทางบก

อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาแบ่งการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็น 2 ประเภทคือคนไทยที่จะเดินทางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเสี่ยง เพื่อกลับประเทศ และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการดูแลคนไทยที่พักอาศัยในต่างประเทศ แม้ว่าไม่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศก็ต้องดูแลให้ดี

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเตรียมการร่วมกันด้านการจัดการ State Quarantine โดยให้พิจารณาให้ละเอียด เพียงพอ ทั้งอุปกรณ์ บุคลากร ให้พร้อมใช้ และเป็นประโยชน์ โดยในสถานที่บางแห่งซึ่งได้ปรับเปลี่ยนใช้เป็นโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย

ขอให้บันทึกแนวทางการรักษา การเตรียมรับมือสถานการณ์ ในรูปแบบต่างๆ ไว้ เพื่อเป็นประวัติศาสตร์และเป็นแนวทาง หากเกิดโรคระบาดใหม่ สิ่งที่บันทึกจะเป็นเสมือนคู่มือในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ หลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ข้อยกเว้นตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. โรคระบาด

รายงานข่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนไม่ให้เกิดข้อสงสัย หน้ากากอนามัยแต่ละชนิดผลิตได้มากแค่ไหน ต้องการใช้จำนวนเท่าใด หน้ากากอนามัย N95 หน้ากากผ้า ตลอดจนให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ในการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความพร้อมเรื่องยารักษาโรคว่ามีเพียงพอ

ตอนท้ายนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกคน ทุกฝ่าย ในทุกระดับ ที่มีส่วนร่วมมือสานต่อการทำงานอย่างเรียบร้อย ในแต่ละด้าน สิ่งสำคัญคือ อย่าให้สิ่งที่มีการสื่อสารตีความผิดพลาดถูกนำออกไปเป็นประเด็นทางการเมือง ให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกหน่วยงานมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และให้โฆษกกระทรวงต่างๆ ชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเอง ควบคู่ไปกับการแถลงสถานการณ์ของโฆษก ศบค.ในแต่ละวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง